xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติ ชี้นโยบายช่วยชาวนาไม่ใช่ประชานิยม สั่งยกเครื่องแบงก์รัฐฟื้นความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าการ ธปท. ชี้นโยบายช่วยชาวนาของ รบ. ไม่ใช่ประชานิยม เพราะวงเงินจำกัด-ช่วยชาวนาในระดับรากหญ้า ไม่ยุ่งกลไกตลาด พร้อมสั่งทีมงานศึกษาแผนกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยมีเป้าหมายปฏิบัติภารกิจให้ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ โดยรักษาความเชื่อมั่นของประชาชน

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประกาศออกมาเมื่อวานนี้ เป็นมาตรการที่ดีช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการเบิกจ่ายของภาครัฐ ทำให้มีเม็ดเงินใหม่เข้าระบบ 55,000 ล้านบาท เป็นเงินช่วยเหลือชาวนา 40,000 ล้านบาท และงบไทยเข้มแข็ง 15,000 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นการแก้ปัญหารัฐบาล ซึ่งประสิทธิภาพของมาตรการจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ต้องดูผลที่ส่งผ่านไปยังภาคเอกชนว่าจะเกิดการลงทุนตามหรือไม่ เพราะการลงทุนภาคเอกชนมีส่วนผลักดันเศรษฐกิจมากกว่าลงทุนภาครัฐ และ เชื่อว่าผลจากมาตรการนี้จะเกิดต่อเศรษฐกิจในปี 2558

นายประสาร ระบุว่า มาตรการจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท แต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทนั้น ไม่ใช่มาตรการประชานิยม เนื่องจากมีการจำกัดเม็ดเงินไว้เพียง 40,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 1 ปี และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับกลไกลตลาดให้เกิดการบิดเบือน และเป็นการมุ่งเน้นช่วยเหลือชาวนารากหญ้าอย่างแท้จริง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรก็ตกต่ำ และยังไม่มีมาตรการใดมาช่วยเหลือในระยะสั้น หลังจากที่โครงการรับจำนำข้าวยุติลง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามคือ มาตรการในระยะยาวที่ช่วยปรับปรุงระบบการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

นายประสาร กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ ธปท.ยังคงจีดีพีปี 2558 โตร้อยละ 4.8 เพราะเม็ดเงินใหม่ที่เข้าสู่ระบบ 55,000 ล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินที่มีสัดส่วนไม่มาก แต่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงเหลือของปีนี้จะเริ่มฟื้นตัวในระยะแรก หลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยคาดว่าครึ่งปีหลัง 2557 โตร้อยละ 3 และทั้งปีโตร้อยละ 1.5

ส่วนยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลต้องผลักดัน คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกระทบประชาชนฐานราก ต้องเร่งรัดเบิกจ่าย และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่ง และลงทุนวิจัยพัฒนา หากไทยยังไม่เร่งพัฒนาจะสูญเสียความสามารถการแข่งขันให้เพื่อนบ้าน และพบความเสี่ยงกับดักประเทศที่กำลังพัฒนาต่อไป

ยุทธศาสตร์ที่สอง คือ การรักษาเสถียรถาพเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะเงินเฟ้อต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศยังสูงรองรับความผันผวนได้ อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพเศรษฐกิจต้องมีวินัย ความรับผิดชอบจากผู้ดำเนินนโยบาย และผู้ปฏิบัติด้วย

สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ ปฏิรูปประเทศให้เข้มแข็งในระยะยาว โดยผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายมติ เช่น การปรับกระบวนการเข้าสู่อำนาจให้เป็นที่ยอมรับ ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาคอร์รัปชัน ระบบการศึกษา และการบังคับใช้กฎหมาย ระบบที่แข็งแกร่งช่วยให้ก้าวมั่นคง และทนต่ออุปสรรคได้

การผลักดันยุทธศาสตร์ดังกล่าว ต้องได้รับความเข้าใจจากประชาชนจึงจะสำเร็จ เพราะบางเรื่องอาจมีผลข้างเคียง แต่เป็นการวางรากฐานระยะยาว โดยผู้กำหนดนโยบายต้องหนักแน่น แน่วแน่ ประชาชน และธุรกิจต้องอดทนจนกว่าการปฏิรูปจะออกดอกผลขัดเจน

“ประเทศไทยหัวเลี้ยวหัวต่อ ดังนั้น ทุกคนต้องร่วมมือ มองประโยชน์เป็นที่ตั้ง ประเทศไทยยังมีศักยภาพเติบโตได้มาก ควรใช้โอกาสฟื้นฟูให้กลับมาปกติ และเจริญงอกงามต่อไปได้” นายประสาร กล่าว

น.ส.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ศูนย์วิจัย เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาโดยเฉพาะในส่วนที่ช่วยเหลือชาวนา 40,000 ล้านบาท จะสามารถช่วยเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น ไม่ส่งส่งเสริมให้ก่อหนี้ จึงไม่บิดเบือนกลไลตลาด ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูง

แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปไทยยังคงมีความเสี่ยง ทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งการขาดแคลนแรงงานฝีมือ และการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งหากมีการแก้ไขได้จะช่วยให้ภาคเอกชนลงทุนตาม ทั้งนี้ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยให้จีดีพีปีหน้าขยายตัวได้ร้อยละ 4.8

นายประสาร ไตรรัตนวรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยังกล่าวถึงกรณีซูเปอร์บอร์ด ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จากเดิมที่อำนาจการกำกับดูแลทั้งหมดขึ้นกับกระทรวงคลัง ว่า ธปท.ได้ให้ทีมเจ้าหน้าที่ทำการศึกษาแผนในการดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หลังจากแผนเสร็จก็จะนำเข้าหารือกับทางกระทรวงการคลัง หากกระทรวงการคลังเห็นชอบก็จะปฏิบัติต่อไป

ทั้งนี้ ยอมรับว่าจะต้องมีการปรับแก้กฎหมายบางส่วน เนื่องจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีกฎหมายเฉพาะในการจัดตั้ง แต่มาตรฐานในการกำกับดูแลอาจจะไม่เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด เนื่องจากแต่ละธนาคารถูกจัดตั้งโดยมีภารกิจที่แตกต่างกันไป

นายประสาร ยืนยันว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐปฏิบัติภารกิจให้ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายรักษาความเชื่อมั่นของประชาชน และรักษาความเชื่อมั่นต่อประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น