นางภรณี ทองเย็น ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส วิเคราะห์แผนเดินหน้าปรับโครงสร้างพลังงานของคณะรัฐบาล หลังจากปรับลดการเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีเทศบาล ในกลุ่มเบนซินและก๊าซโซฮอล์ลง ควบคู่กับการปรับลดวงเงินที่จัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เป็นผลทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน, ก๊าซโซฮอล์ 95 91 และ E20 ลดลงลิตรละ 3.89 บาท, 2.13 บาท, 1.7 บาท และ 1 บาทตามลำดับ
ขณะเดียวกัน มีการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทั้งสรรพสามิตและภาษีเทศบาลจากเดิมลิตรละ 0.005 บาท และ 0.0005 บาท เป็น 0.75 บาท และ 0.075 บาท ตามลำดับ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลขยับเพิ่มขึ้น 0.14 บาท เพราะได้ปรับลดภาษีน้ำเข้ากองทุนน้ำมันจากเดิมลิตรละ 1.55 บาท เหลือ 1 บาท ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันจะหายไปประมาณ 1,100 ล้านบาทต่อเดือน
ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ได้เห็นชอบในหลักการให้ปรับโครงสร้างราคา LPG และ NGV เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยในเบื้องต้นจะปรับราคาขายภาคขนส่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม ให้เท่ากับภาคครัวเรือนซึ่งอยู่ที่ 22.63 บาท ต่อกิโลกรัม หรือมีส่วนต่างกันที่ 1.25 บาท ต่อกิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติมี 2 แนวทาง คือ ปรับขึ้นทันที แต่ก็คงต้องมีมาตรการเยียวยารถสาธารณะที่ให้บริการ โดยเฉพาะรถแท็กซี่ใช้ก๊าซ GPG เป็นเชื้อเพลิงราว 2 หมื่นคัน โดยให้คงราคาเดิมหรือทยอยปรับขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังการปรับราคา LPG ของภาคขนส่ง ให้เท่ากับครัวเรือนแล้ว ก็ยังต่ำกว่าราคาขายให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ตกราว 30.07 บาท ต่อกิโลกรัม
โดยสรุป การปรับโครงสร้างราคาขายเชื้อเพลิง ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในกลุ่ม PTT ทั้งผลิตสำรวจ โรงกลั่นและขายปลีก ฝ่ายวิจัยยังคงให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มน้ำมัน “มากกว่าตลาด” โดยยังคงคำแนะนำซื้อ PTT, PTTEP และกลุ่มโรงกลั่นได้แก่ PTTGC, IRPC, BCP และ TOP