“กรมสรรพากร” เชิญสำนักงานบัญชีติวเข้ม 30 ก.ค.นี้ หลังพบภาษีธุรกิจขนาดเล็ก จำนวนกว่า 7% ประเมินรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง ระบุต้องการให้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นหมดไป และต้องการให้ภาคเอกชนเสียภาษีตามความเป็นจริง
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยภายหลังร่วมงาน RD Camp Season 7 โดยระบุว่า การรั่วไหลของการจัดเก็บภาษีปัจจุบันยังมีจำนวนมาก จึงต้องการรณรงค์ให้ทุกส่วนเสียภาษีตามความเป็นจริง โดยเฉพาะการประเมินรายได้ของธุรกิจขนาดเล็ก สำหรับการแจ้งยอดภาษีครึ่งปีต้องประเมินได้ว่า ควรมีรายได้เท่าใด โดยกรมสรรพากร ต้องการให้ประเมินยอดทั้งปี เพราะปัจจุบันพบว่า ธุรกิจขนาดเล็กประเมินยอดรายได้ผิดพลาดจากรายได้ตามจริงถึงร้อยละ 7 ของจำนวนผู้เสียภาษีนิติบุคลลที่มีประมาณ 400,000 ราย จึงต้องการให้ข้อผิดพลาดเหล่านี้หมดไป และให้เอกชนเสียภาษีตรงตามความเป็นจริง
นายประสงค์ กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (30 ก.ค.) กรมสรรพากร เชิญสำนักงานบัญชีที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการทำบัญชีให้แก่นิติบุคลลมาชี้แจงแนวทางการตรวจสอบ และจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของกรมสรรพากร โดยเน้นสำนักงานที่มีลูกค้ามากกว่า 30 รายขึ้นไป ประมาณ 10,000 รายทั่วประเทศ เพื่อให้สำนักงานบัญชีจัดทำรายได้ รายจ่าย การทำบัญชีงบดุลให้ครบถ้วนถูกต้อง ยอมรับว่าขณะนี้การบริโภคเริ่มฟื้นตัว เอกชนจะประเมินรายได้เหมือนปีที่ผ่านมาจากเศรษฐกิจชะลอตัว และปัญหาการเมืองคงไม่ถูกต้อง
ดังนั้น หากพบว่ามีการเสียภาษีขาดหายไปมากกว่าร้อยละ 25 จากที่ประเมินไว้ กรมฯ จะมีมาตรการเรียกเงินค่าปรับอีกร้อยละ 20 ของเงินภาษีที่ชำระขาดด้วย นอกเหนือจากที่ต้องมาเสียภาษีให้ครบถ้วนแล้ว เพราะเงินค่าปรับดังกล่าวกรมสรรพากรไม่ต้องการได้รับจากภาคเอกชน แต่ต้องการให้เสียภาษีอย่างถูกต้อง
สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรมีแนวโน้มดีขึ้น จากเดิมคาดว่าจะพลาดเป้าหมาย 100,000 ล้านบาท จากเป้าหมายการจัดเก็บที่ตั้งไว้ 1.89 ล้านล้านบาท หลังจากภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนกรกฎาคมเริ่มดีขึ้นร้อยละ 1.7 เพราะความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้การเก็บภาษีพลาดเป้าหมาย น่าจะคลี่คลายดีขึ้นในท้ายปีงบประมาณ 2557 และทำให้แนวโน้มการจัดเก็บภาษีดีขึ้นต่อเนื่องไปยังไตรมาส 1 ของงบประมาณปี 2558 ซึ่งเป้าหมายตั้งไว้ที่ 1.96 ล้านล้านบาท โดยยอมรับว่า ภาษีเงินบุคคลธรรมดาซึ่งปรับลดลงเหลือร้อยละ 35 แบ่งเป็น 7 ขั้นจะทำให้รายได้หายไป 40,000 ล้านบาท จากเดิมเคยคาดว่าจะลดลง 20,000 ล้านบาท แต่เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น น่าจะทำให้ยอดจัดเก็บภาษีรายได้สูงขึ้นตามไปด้วย