xs
xsm
sm
md
lg

เผยรีดภาษีพลาดเป้า 9.3 หมื่นล้านบาท “สรรพากร” เรียกสำนักบัญชี 1 หมื่นแห่งติวเข้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กรมสรรพากร” เกาะติดภาษีนิติบุคคลกลางปี เชื่อรายได้ดีขึ้นส่งผลให้เก็บภาษีกระเตื้องขึ้น หลังพลาดเป้าแล้ว 93,000 ล้านบาท พร้อมเรียกสำนักบัญชี 10,000 แห่ง ติวเข้ม 30 กรกฎาคม 2557 นี้ ขู่ยื่นเสียภาษีให้ลูกค้าขาดร้อยละ 25 โดนเรียกเงินค่าปรับอีกร้อยละ 20

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า วันที่ 30 กรกฎาคมนี้ กรมสรรพากรจะเรียกสำนักงานบัญชีชี้แจงแนวทางการตรวจสอบ และจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ โดยจะเน้นสำนักงานที่มีลูกค้ามากกว่า 30 รายขึ้นไป ซึ่งเท่าที่มีข้อมูลน่าจะมีประมาณ 10,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้สำนักงานบัญชีจัดทำรายได้รายจ่ายให้ครบถ้วนถูกต้อง เพื่อนิติบุคคลจะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับภายหลัง โดยเฉพาะการยื่นเสียภาษีกลางปีที่จะถึงในเดือนกันยายนนี้

ทั้งนี้ แม้ว่ารอบปีบัญชีก่อนจะมีการยื่นเสียภาษีน้อยลง แต่จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นสะท้อนการบริโภคที่เริ่มฟื้นตัว นิติบุคคลจะประเมินรายได้เพื่อเสียภาษีเหมือนที่ผ่านมาคงไม่ถูกต้อง โดยกรมฯ จะมีการตรวจสอบการยื่นภาษีอย่างเข้มงวด หากพบว่ามีการเสียภาษีขาดไปมากกว่าร้อยละ 25 กรมฯ จะมีมาตรการเรียกเงินค่าปรับอีกร้อยละ 20 ของเงินภาษีที่ชำระขาด นอกเหนือจากที่ต้องเสียภาษีให้ครบถ้วนแล้ว

“มาตรการดังกล่าวจะทำให้นิติบุคคลมีความระมัดระวังในการยื่นภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนมากขึ้น หากขาดไปไม่ถึงร้อยละ 25 กรมฯ ก็ยกประโยชน์ให้ไม่เรียกเก็บเงินค่าปรับ แต่ต้องมาเสียภาษีให้ครบถ้วน ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯ ปรับลดอัตราภาษีเหลือเพียงร้อยละ 20 แล้วน่าจะช่วยลดภาระภาษีได้ในระดับหนึ่ง ต้นปีมีการยื่นภาษีนิติบุคคลเข้ามาครั้งแรกยอมรับว่าภาษีหายไปจำนวนมาก แต่ที่จะยื่นเข้ามากลางปีนี้น่าจะมีรายได้เข้ามามากขึ้น” นายประสงค์กล่าว

นายประสงค์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้การจัดเก็บภาษีภาพรวมยังต่ำกว่าเป้า 93,000 ล้านบาท แม้ว่าแนวโน้มการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคจะสูงขึ้น แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้ายังหดตัวร้อยละ 3 ทุกเดือน อีกทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ปรับโครงสร้างใหม่ ทำให้รายได้หายไปถึง 40,000 ล้านบาท สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม 20,000 ล้านบาท โดยทั้งปีจะพยายามดูแลให้ภาษีลดลงไม่เกิน 100,000 ล้านบาท จากเป้าหมายการจัดเก็บที่ตั้งไว้ 1.89 ล้านล้านบาท

ส่วนปีหน้ามองว่าจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นน่าจะส่งผลให้การจัดเก็บภาษีขยายตัวตามไปด้วย และน่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 1.96 ล้านล้านบาท โดยยอมรับว่าภาษีเงินได้นิติบุคคล และบุคคลธรรมดามีแนวโน้มลดลง และภาษีมูลค่าเพิ่มน่าจะเป็นตัวหลัก หรือกว่าร้อยละ 40 ของรายได้รวม

สำหรับแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีนั้นต้องมาพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งทั้งการหักค่าลดหย่อนต่างๆ ที่ใช้มานานกว่า 20 ปี รวมทั้งการหักค่าลดหย่อนลงทุนในกองทุนอาร์เอ็มเอฟ แอลทีเอฟ ที่จะหมดในปี 2559 ซึ่งคงต้องดูภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนในตลาดทุนช่วงนั้นด้วย ซึ่งขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินใจ โดยการหักลดหย่อนส่วนนี้ทำให้กรมฯ สูญเสียรายได้ประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น