สงครามช่วยผลักดันราคาทองคำ แต่เป็นเพียงระยะสั้น หาใช่ระยะยาว ภาพรวมแรงเทขายจดจ้องรอทำกำไร ช่องว่างทำกำไรเหลือน้อยลง ผิดกับที่ถือยาวมาก่อนเกิดเหตุการณ์ ประเมินล่าสุด..สูงสุดปีนี้เต็มที่ทองคำไทยไม่เกิน 21,500 บาท จับตาประชุมเฟด หากส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ถือเป็นจุดเริ่มแห่งการปรับตัวลงแม้นักลงทุนทุกคนจะรับรู้ว่า รอบการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงนี้ไม่ได้หวือหวาเหมือนในช่วง 2-3 ปีก่อน แต่ความสนใจเข้าลงทุนในทองคำยังไม่หมดเสน่ห์ที่เย้ายวนไปเสียหมด และยังเป็นการลงทุนที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนอยู่ในระดับหนึ่ง ด้วยทองคำยังถือเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ปลอดความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะหุ้น
ช่วงที่ผ่านมา ราคาทองคำในประเทศปรับตัวอยู่ในระดับ 20,000 - 20,450 บาท มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยผลักดันราคาออกมาเพิ่มเติม อีกทั้ง การรับรู้กรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดวงเงินในมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) นั้นนักลงทุนได้รับรู้เรื่องดังกล่าวมามากแล้ว เช่นเดียวกับแนวคิดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดก็ถูกพูดถึงน้อยลงไป ....ในทางกลับกัน เมื่อเกิดความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ต่างๆ .....ทองคำ จะกลายเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆเช่นเดิม
ความรุนแรงหรือสงครามที่เกิดขึ้นในแง่การลงทุน ถูกยกเป็นเครื่องมือในการผลักดันราคาทองคำให้ปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่สมัยก่อนๆ ดังนั้น เมื่อโลกรับรู้ถึงความตรึงเครียดจากสถานการณ์สงคราม ราคาทองคำจะเป็นเครื่องมือลงทุนประเภทแรกที่ปรับตัวตอบรับสถานการณ์ดังกล่าว สังเกตได้จากกรณีสงครามหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น เช่นกรณีของยูเครนกับรัสเซียในช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุด นั่นคือความวุ่นวายในอิรัก มีผลให้ราคาสัญญาซื้อขายทองคำในตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.ปรับเพิ่มขึ้น 4.6 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 0.35% 1,326.6 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ นับเป็นการปรับตัวสูงสุดตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2557 ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า...ยิ่งภาพรวมสถานการณ์ความรุนแรงหรือความขัดแย้งมีความร้อนแรงมากขึ้น ราคาทองคำก็จะวิ่งขึ้นไล่ทำลายสถิติของตนเองต่อไปเรื่อยๆ
กลับมาที่ในแง่ของการลงทุน ทุกครั้งที่กลิ่นไอสงครามคุโชนเข้าสู่ตลาดทุน กองทุนทองคำขนาดใหญ่ และกองทุนอื่นๆ จะเริ่มขยับตัวเข้าเก็บสะสมทองคำ เพื่อทำกำไรในช่วงที่ราคาปรับตัวขึ้นมาถึงจุดที่กำหนดไว้ โดยแรงซื้อจากกองทุน หรือสถาบันเหล่านี้ นั่นเองที่มีผลผลักดันราคาทองคำทะยานขึ้น เช่นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2557 กองทุน ETF ทองคำอันดับหนึ่งของโลก “SPDR Gold Trust” เข้าถือครองทองคำเพิ่มขึ้นเป็น 25.4 ล้านออนซ์ ก่อนเทขายทองคำออกมาทำกำไรในช่วงกลางเดือน
สัญญา หาญพัฒนากิจพานิช ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตราสารอนุพันธ์ บล. โกลเบล็ก กล่าวถึงทิศทางราคาทองคำในช่วงนี้ว่า ราคาทองคำยังมีโอกาสในการปรับขึ้นไปได้อีก โดยภาพรวมทั้งปีส่วนตัวเชื่อว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,230 -1,390 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ภายใต้เงื่อนไขค่าเงินดอลลาร์สหรัฐถูกกดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด แต่การปรับขึ้นของราคาทองคำรอบนี้จะไม่หวือหวาหรือเติบโตมากเหมือนก่อน
ส่วนกรณีสถานการณ์ในอิรักนั้น มองว่าสงครามที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งหมายถึงจะช่วยสนับสนุนราคาทองคำได้ไม่มากเท่าใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อของสถานการณ์นั่นเอง
“เป็นดังเช่นทุกครั้ง เมื่อเกิดปัญหาสงคราม นักลงทุนจะมีความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว ทำให้เกิดการเทขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การขายหุ้นออกมาและจะโยกเงินลงทุนเข้าสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยและมีความปลอดภัย เช่น ทองคำ แต่ฟันด์โฟลว์ที่จะมาสนับสนุนนั้นมีไม่มาก เราอาจได้เห็นราคาทองคำกลับมาแตะจุดสูงสุดเดิมที่ 1,390 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ เหมือนเช่น ตอนกรณีรัสเซีย-ยูเครนได้อีกครั้ง ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด จากสถานการณ์ที่กดดันเช่นนี้ ทำให้เชื่อว่าน่าจะได้เห็นการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในช่วงปีหน้ามากกว่า”
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตราสารอนุพันธ์ บล. โกลเบล็ก เชื่อว่า ตอนนี้การปรับลดวงเงินในมาตรการ QE และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีผลกระทบต่อราคาทองคำไม่มากนัก จนกว่าการประชุมครั้งล่าสุดที่จะถึงนี้ เฟดมีการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยออกมา นั่นจะมีผลทำให้ราคาทองคำที่กำลังไต่ระดับขึ้นสูงปรับตัวลดลง และโดยรวมเชื่อว่าปีนี้ราคาทองคำจะไม่ต่ำกว่า 1,300 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ หรือไม่เกิน 21,500 บาท
ขณะที่ ณัฐพล คำถาเครือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองว่าการลงทุนในทองคำยังมีความน่าสนใจ หากอยู่ในระดับราคาที่ต่ำ ส่วนปัจจัยที่ผลักดันราคาทองคำจากกรณีสงคราม มองว่าเป็นปัจจัยสนับสนุนในระยะสั้นๆ ไม่กี่สัปดาห์ และจากนั้นราคาทองคำจะปรับตัวลดลง ทั้งนี้ เมื่อมองภาพรวมของปี 2557 จะพบว่า ราคาทองคำได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นปีไปแล้ว 10% แม้จะไม่เป็นขาขึ้นมากนักเหมือนช่วงหลายปีก่อน แต่เชื่อว่ากรอบในการปรับตัวลดลงของทองคำในรอบนี้ น่าจะปรับตัวลดลงได้ไม่แรงนัก
อีกทั้ง ยังจะมีปัจจัยสนับสนุนราคาจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มเติม และควรจับตา การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบของกลุ่มสหภาพยุโรป และการเพิ่มสภาพคล่องโดยการลดวงเงินสำรองการปล่อยกู้ของบรรดาธนาคารพาณิชย์จีน เข้ามาสนับสนุน ซึ่งอาจทำให้ราคาขยับขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของปีนี้นอกจากนี้ จากเม็ดเงินที่ไหลเข้าไปในตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมาก เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ หากประเมินจากค่า P/E ตลาดในปัจจุบันที่ประมาณ 15-16 เท่า ก็เชื่อว่าในอีกระยะหนึ่งน่าจะมีการเทขายทำกำไรหุ้นในตลาดพัฒนาแล้วเหล่านี้ออกมาเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐ หลังจากที่ผ่านมาดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาและสร้างสถิติใหม่เกิดขึ้นมาหลายครั้ง จึงทำให้เชื่อว่าเมื่อเงินไหลออกจากตลาดหุ้น นักลงทุนส่วนหนึ่งจะโยกเงินลงทุนเข้าสู่ทองคำที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า หากพิจารณาเทียบกับการนำเงินไปลงทุนในพันธบัตร
กลับมาที่ราคาทองคำในเมืองไทย ณัฐพล เชื่อว่า ราคาทองคำในปัจจุบันกับราคาเป้าหมายที่อาจได้เห็นในปีนี้ของราคาทองคำหนีกันไม่มาก จากระดับในทุกวันนี้ที่ 20,500 -21,500 บาท โดยราคาสูงสุดที่อาจได้เห็นทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นน่าจะอยู่ที่ประมาณ 22,250 บาท
ส่วนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เชื่อว่าไม่น่าจะอ่อนตัวลงไปได้มากกว่านี้ และน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบัน 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการอ่อนตัวที่มีผลมาจากปัญหาทางการเมืองตั้งแต่ปลายปีก่อน ที่เริ่มมีการชุมนุม และเป็นระดับที่รอการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากข่าวกระตุ้นเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยังมีหลายนโยบายและแผนงานจะนำเสนอเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง เช่นการเดินหน้าโครงการภาครัฐ การจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ ดังนั้นจึงมองว่าการลงทุนในทองคำ ยังไม่หมดเสน่ห์ลงไป
ดังนั้นโดยรวม การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำช่วงนี้ ได้มาจากสถานการณ์สงครามในอิรักและยูเครน ที่อาศัยความยืดเยื้อของเหตุการณ์พยุงราคาให้ทรงตัวและทยอยปรับตัวในขาขึ้น ท่ามกลางแรงเทขายทำกำไรที่จดจ้องหาจังหวะ จนแทบจะกล่าวได้ว่า หากตัดสินใจซื้อทองคำในช่วงนี้ ถือว่ามีความเสี่ยงที่สูงกว่า ผู้ที่ถือครองทองคำไว้ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ ที่ในช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงสร้างผลตอบแทนกลับคืนจากการลงทุนที่สูงกว่า ความเสี่ยงรอบข้างที่ใกล้จะเกิดขึ้น