xs
xsm
sm
md
lg

กรมศุลฯ คุมเข้มหิ้วสินค้าเกินหมื่นจ่อถูกจับเรียกเก็บภาษี คาดป้องปรามพ่อค้าพรีออเดอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมศุลฯ ติดป้ายทุกสนามบิน ห้ามหิ้วฝากเข้าประเทศเกิน 1 หมื่น แจงหากเป็นเชิงพาณิชย์ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง คาดเป็นการป้องกันและปราบปรามกลุ่มแม่ค้า พ่อค้าพรีออเดอร์ทั้งหลายที่ทำธุรกิจหิ้วสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายโดยวิธีการหลีกเลี่ยงภาษี

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งป้ายประกาศแจ้งผู้โดยสาร และลูกเรือที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยว่า บุคคลสามารถนำของใช้ส่วนตัวเข้าประเทศได้ไม่เกินครั้งละ 10,000 บาท โดยต้องไม่มีลักษณะทางการค้า เสบียง อาหาร อาหารเสริม เครื่องสำอาง ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี บุหรี่/ยาสูบ/สุรา/ไวน์ นำเข้าได้ในจำนวนจำกัด ของฝากญาติ ของบริจาค ของสะสม ของมือสอง ของฝากเจ้านาย ไม่ถือว่าเป็นของใช้ส่วนตัว กระเป๋า นาฬิกาแบรนด์เนมราคาเกิน 10,000 บาท ต้องชำระภาษี

ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะเป็นการป้องกันและปราบปรามกลุ่มแม่ค้าพ่อค้าพรีออเดอร์ทั้งหลายที่ทำธุรกิจหิ้วสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายโดยวิธีการหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งความผิดทางศุลกากรกำหนดไว้ชัดเจนตามประกาศกรมศุลกากรว่า “ห้ามบุคคลนำของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษีอากร หรือของที่ควบคุมการนำเข้า หรือของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในประเทศไทย โดยของที่ลักลอบหนีศุลกากร อาจเป็นของที่ต้องเสียภาษี หรือไม่ต้องเสียภาษีก็ได้ หรืออาจเป็นของต้องห้าม หรือของต้องจำกัดหรือไม่ก็ได้ หากไม่นำมาผ่านพิธีการศุลกากร ก็มีความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร ทั้งนี้ กฎหมายศุลกากรได้กำหนดโทษผู้กระทำผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ ไว้สูงสุดคือ ให้ริบของที่ลักลอบหนีศุลกากร และปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคารวมค่าภาษีอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำและปรับ”

ด้านนายยุทธนา หยิมการุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า มาตรการนี้เป็นแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี โดยการเข้มงวดการนำสินค้าที่ไม่ได้นำเข้ามาเพื่อใช้ส่วนตัวสำหรับผู้โดยสาร และลูกเรือที่เดินทางเข้ามาในประเทศ เพราะหากไม่ใช่สินค้าส่วนตัวแล้ว แต่นำมาเพื่อการค้าขายจะต้องมีภาระภาษีต้องเสีย หากผู้นำเข้าไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรทราบก็จะมีความผิดตามกฎหมายด้วย

ทั้งนี้ ที่สนามบินทุกแห่งทั่วประเทศ กรมศุลกากรได้ขึ้นป้ายรายละเอียดชัดเจนว่า ของใช้ส่วนตัวหมายถึงของนำเข้าที่มาใช้กับร่างกาย เช่น เสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า และกระเป๋า โดยมีลักษณะไม่เกินกว่าการใช้เอง มีราคารวมกันไม่เกิน 1 หมื่นบาท โดยต้องไม่มีลักษณะการค้า หากของใช้ส่วนตัวนำมาเกินกว่าใช้เอง ต้องชำระภาษี โดยต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ศุลกากรก่อนเข้าเครื่องตรวจเอกซเรย์ มิเช่นนั้นจะมีความผิดทางกฎหมาย

ขณะที่ในส่วนของเสบียง อาหาร อาหารเสริม และเครื่องสำอาง ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี และต้องมีใบอนุญาตนำเข้า ส่วนบุหรี่ยาสูบ ได้รับการยกเว้นภาษี 200 มวน สุรา ไวน์ ได้รับการยกเว้นภาษี 1 ลิตร

นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังแจ้งข้อควรทราบว่า ของฝากญาติ ของได้รับบริจาค ของสะสม ของมือสอง ของฝากเจ้านาย ของเอามาใช้เอง กล่องเปล่านาฬิกา หรือกระเป๋าแบรนด์เนม ไม่ถือว่าเป็นของใช้ส่วนตัว ผู้โดยสาร และลูกเรือต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรทราบ และเสียภาษีให้ถูกต้อง

“ยกตัวอย่างของมีราคา เช่น กระเป๋า นาฬิกาแบรนด์เนม หากมีราคาเกิน 1 หมื่นบาท ต้องชำระภาษี ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายระบุ” นายยุทธนากล่าว

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการตรวจของเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะใช้ดุลพินิจ เพื่อไม่ให้ผู้เดินทางเข้าประเทศได้รับความเดือดร้อน หรือไม่สะดวก เช่น กระเป๋าแบรนด์เนม หากมีราคาเป็นหลักแสน หรือเป็นหลักล้านบาท แต่เป็นการซื้อมาใช้ส่วนตัว ก็ถือว่าไม่ต้องเสียภาษี แต่ไม่ใช่นำเข้ามาหลายใบ เช่น นำเข้ามาทีเดียว 3-4 ใบ ซึ่งมีเจตนาว่าจะนำเข้ามาเพื่อการพาณิชย์มากกว่าใช้ส่วนตัว กรณีอย่างนี้ก็ต้องเสียภาษีให้ถูกต้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น