บล.ทิสโก้ วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจไทยการส่งออกการส่งออกมีแนวโน้มดูดีขึ้น เรายังคงมองทั้งปีส่งออกขยายตัว 2.8% โดยเฉพาะตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศ G2 และ CLMV ยังคงแข็งแกร่ง
ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ มองว่า แม้ภาพการส่งออกเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 1.94 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 และลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 9.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 และลดลง 14.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ถือเป็นการหดตัวน้อยกว่าคาด ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลน้อยลง ที่ 809 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุลการค้า 1.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สรุปในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 การส่งออกหดตัว 1.2% และการนำเข้าหดตัว 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์มองว่า การส่งออกน่าจะกลับมาฟื้นตัวเนื่องจากตลาดของประเทศในกลุ่ม G2 และ CLMV ยังคงแข็งแกร่ง เพราะแม้ว่าภาพรวมการส่งออกจะดูลดลง แต่การส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยเฉพาะการส่งออกข้าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 14.8% และปริมาณเพิ่มขึ้น 67.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556
ภาพการส่งออกที่หดตัวลงคือ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดยานพาหนะที่หดตัวลง 6.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าหดตัวลง 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าที่เคลื่อนไหวตามวัฏจักรเศรษฐกิจโลกปรับตัวขึ้นแข็งแกร่ง ประกอบด้วย สินค้าหมวดคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ขยายตัว 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แผงวงจรไฟฟ้าขยายตัว 10.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และผลิตภัณฑ์พลาสติกขยายตัว 11.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับตลาดส่งออก การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ สหภาพยุโรป หรือ EU27 คือ ออสเตรีย, เบลเยียม, บัลแกเรีย, ไซปรัส, สาธารณรัฐเช็ก, เดนมาร์ก, เอสโตเนีย, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กรีซ, ฮังการี, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, ลักเซมเบิร์ก, มอลตา, เนเธอร์แลนด์, โปแลนด์, โปรตุเกส, โรมาเนีย, สโลวะเกีย, สโลวีเนีย, สเปน, สวีเดน และสหราชอาณาจักร มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ที่ขยายตัว 9.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 สหรัฐฯ ขยายตัว 2.8%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 และกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา พม่า เวียดนาม และลาว ที่ขยายตัวถึง 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ขณะที่การส่งออกไปยัง จีน และกลุ่ม ASEAN5 หดตัวน้อยลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังญี่ปุ่นหดตัวมากขึ้น รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีการบริโภคในเดือนเมษายน
ประกอบกับการนำเข้าหดตัวน้อยกว่าคาด ปัจจัยหลักมาจากการนำเข้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นถึง 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 แต่ภาพรวมการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลงแรงถึง 14.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 สะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มการลงทุนยังคงไม่สดใส นอกจากนี้ การนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์ ยังคงหดตัวลงถึง 25.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยเป็นผลจากนโยบายรถคันแรกที่ยังคงมีอยู่ไปตลอดปีนี้ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบไม่รวมทองคำหดตัวน้อยลง ส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการส่งออกที่น่าจะดีขึ้น
สรุปฝ่ายวิเคราะห์ ประเมินว่าทั้งปี 2557 ส่งออกขยายตัว 2.8% จากการที่เศรษฐกิจโลกน่าจะขยายตัวดีขึ้นหนุนโดยการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นในยุโรป ความเสี่ยงต่อปัญหาหนี้เสียในจีนที่ลดลง และเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่น่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น หลังผลกระทบของการปรับขึ้นภาษีการขายทยอยหมดลง นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ชี้ถึงแนวโน้มการส่งออกที่สดใส ดังนั้น เราจึงยังคงมุมมองว่า การส่งออกของไทยจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีหลัง และคาดว่าทั้งปีการส่งออกจะขยายตัวได้ 2.8%