“เพอร์เฟค” ยอมรับเดินทางลัดขึ้นอันดับ 4 ผู้นำตลาดอสังหาฯ หลังซื้อ TPROP พ่วง GRAND อีก 40.62% ส่งผลสินทรัพย์รวม 44,009 ล้านบาท คาดรายได้ 22,179 ล้านบาท ระบุเป็นการกระจายความเสี่ยงขยายธุรกิจครอบคลุมเช่า-ขาย หลังควบรวมกิจการสำเร็จเตรียมปรับโครงการองค์กรใหม่ เล็งงัดที่ดินแปลงสวยย่าน ภูเก็ต พังงา กระบี่ และสุขุมวิท 11 ของ GRAND ออกพัฒนาสร้างรายได้
นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร๊อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน)(PF) เปิดเผยว่า การเข้าซื้อกิจการบริษัท ไทยพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (TPROP) ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายธุรกิจอย่างก้าวกระโดด ในการเพิ่มขนาดของบริษัททั้งในด้านสินทรัพย์รวม และรายได้ ให้ติด 1 ใน 5 อันดับแรกของผู้นำตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงิน อีกทั้งยังเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มความมั่นคงของกระแสรายได้จากธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า และโรงแรม ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง
“เราตัดสินใจเดินทางลัดเพื่อให้บริษัทเติบโต รองรับการแข่งขันที่จะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งการซื้อ TPROP ในครั้งนี้เป้าหมายไม่ได้อยู่แค่แอสเซทของ TPROP เท่านั้น แต่อยู่ที่การถือหุ้นสัดส่วน 40.62% ในบริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAND ที่มีธุรกิจอสังหาฯ เพื่อการเช่า ได้แก่ อาคารสำนักงาน ร้านค้า โรงแรม รวมถึงการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขายด้วย” นายชายนิด กล่าว
ทั้งนี้ ก่อนควบรวมกิจการบริษัทมีมูลค่าทรัพย์สิน จำนวน 30,668 ล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 8 ของตลาด ในด้านของรายได้รวม จำนวน 15,992 ล้านบาท อยู่ลำดับที่ 9 ของตลาด ซึ่งภายหลังจากควบรวมกิจการจะทำให้บริษัทขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 4 ของอุตสาหกรรม ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 44,009 ล้านบาท โดยอันดับ 1 ได้แก่ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ รองลงมาเป็น แสนสิริ และพฤกษา ในด้านรายได้รวมบริษัทจะขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 4 ของตลาดเช่นกัน ด้วยประมาณการณ์รายได้รวม 22,179 ล้านบาท โดยอันดับ 1 คือ พฤกษา รองลงมา แสนสิริ และแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังมีผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 8,646 ล้านบาท เป็น 16,392 ล้านบาท ในขณะที่หนี้สินต่อทุนจะลดลงจาก 2.55 เท่าในปัจจุบัน เหลือ 1.76 เท่า ส่วนภาระหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสิทธิต่อทุนจะลดลงจาก 1.93 เท่าเหลือ 1.33 เท่า การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ ยังจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และเพิ่มความมั่นคงของกระแสรายได้ของบริษัทฯ ในอนาคตด้วย
สำหรับการเข้าซื้อ TPROP ดังกล่าว PF จะใช้วิธีการแลกหุ้น (Share Swap) มูลค่า 1,800 ล้านบาท โดยได้ส่วนของผู้ถือหุ้น TPROP มา 4,789 ล้านบาท ทั้งนี้ PF จะเข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นของ TPROP โดยการเสนอหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ PF เป็นค่าตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น TPROP ในอัตราการแลกหุ้น 1.00 หุ้นของ TPROP ต่อ 0.50 หุ้นของบริษัทฯ หรือชำระเป็นตัวเงินในราคาหุ้นละ 0.57 บาท หากการเข้าซื้อกิจการ TPROP เป็นผลสำเร็จ จะทำให้ PF เข้าไปมีอำนาจควบคุมอย่างมีนัยสำคัญโดยอ้อม (Chain Principle) ใน GRAND ส่งผลให้ PF มีหน้าที่เข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ GRAND โดยมีค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ PF ในอัตราการแลกหุ้น 1.00 หุ้นของ GRAND ต่อ 1.149123 หุ้นของ PF หรือชำระเป็นตัวเงินในราคาหุ้นละ 1.31 บาท ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ก่อน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 นี้
“นอกจาก PF ที่ถือหุ้นใหญ่ใน GRAND ยังมีผู้ถือหุ้นใหญ่อีก 2 รายคือ คุณวิชัย ทองแตง และกลุ่มนฤหล้า ที่ถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ และจากการเจรจาเบื้องต้นแล้ว 2 กลุ่มนี้คงไม่ขายหุ้นใน GRAND อย่างแน่นอน แต่จะใช้วิธีแลกหุ้นใน PF แทน อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เตรียมพร้อมด้วยการขอวงเงินกู้ 3,600 ล้านบาท ไว้รองรับในการซื้อหุ้นจาก TPROP และ GRAND แล้ว” นายชายนิด กล่าว
ปัจจุบัน TPROP ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย อาคารสำนักงานให้เช่า 2 แห่ง บนถนนสุขุมวิท ได้แก่ อาคารวัน แปซิฟิค เพลส และอาคารทู แปซิฟิค เพลส ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท แปซิฟิค เอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TPROP รวมทั้งมีการลงทุนใน GRAND 40.62% โดย GRAND ดำเนินธุรกิจโรงแรม จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงแรม เดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท, โรงแรมเชอราตัน หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ สปา, โรงแรมเชอราตัน หัวหิน ปราณบุรี วิลล่า และโรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และยังมีคอนโดมิเนียมอีก 2 โครงการ คือ ไฮด์ สุขุมวิท ซึ่งอยู่ระหว่างการขาย และโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งจะรับรู้รายได้ภายในปีนี้ 5,000 ล้านบาท และโครงการใหม่ ไฮด์ สุขุมวิท 2
“ภายหลังการซื้อกิจการสำเร็จ บริษัทจะจัดวางโครงสร้างใหม่ เพิ่มส่วนของอสังหาฯ เพื่อการเช่า ซึ่งการผนึกกำลังของทีมผู้บริหารจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีแผนที่จะนำที่ดินแลนด์แบงก์ของ GRAND ที่อยู่ตามเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา มาพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม” นายชายนิดกล่าว
สำหรับทิศทางในอนาคตบริษัทมีแผนการพัฒนา และขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อรับรู้กำไรล่วงหน้า ด้วยการจัดตั้งเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) โดยมีแผนนำศูนย์การค้า 2 แห่ง ได้แก่ เมโทร เวสต์ทาวน์ และ เมโทร อีสต์ทาวน์ มูลค่ารวม 1,800 ล้านบาท จัดตั้งเป็นกองทุนฯ รวมทั้งมีแผนจัดพอร์ตการลงทุนในธุรกิจโรงแรม โดยนำ คิโรโระ รีสอร์ท โรงแรมในประเทศญี่ปุ่น โรงแรมเชอราตัน หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ สปา และเชอราตัน หัวหิน ปราณบุรี วิลล่า รวมมูลค่ารวม 3,700 ล้านบาท จัดตั้งเป็นกองทุนฯ ด้วย
นายชายนิด กล่าวต่อว่า PF มีจุดอ่อนที่การรับรู้รายได้ในส่วนคอนโดฯ ล่าช้าเนื่องจากงานก่อสร้าง แต่หลังจากนี้ บริษัทได้ปรับแผนการลงทุนใหม่ด้วยการพัฒนาคอนโดฯ สูงไม่เกิน 8 ชั้นแทน ภายใต้แบรนด์ใหม่ โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะพัฒนาใน 4 โครงการ มูลค่ารวม 7,000 ล้านบาท ได้แก่ ทำเลรัชดา, พหลโยธิน, เกษตร-นวมินทร์ และพระราม 4 ใกล้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
การปรับโครงสร้างธุรกิจด้วยการซื้อกิจการของ TPROP และ GRAND ทำให้บริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้น นับเป็นหนึ่งในจากเป้าหมายหลักของบริษัท ในการเสริมศักยภาพให้มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งด้วยการลดหนี้สินต่อทุนลง นอกจากนี้ ยังมีนโยบายลดการถือครองแลนด์แบงก์ที่ไม่มีการพัฒนาโครงการ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย เพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงแผนการขายทรัพย์สินที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักที่มีมูลค่ารวม 3,570 ล้านบาท ได้แก่ 1.ที่ดินถนนสุขุมวิท 103 (ใกล้แยกบางนา) เนื้อที่ 17 ไร่ ราคา 1,700 ล้านบาท ให้กับกลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป และบริษัท ซิตี้ เรียลตี้ 2.ที่ดิน ทำเลกรุงเทพกรีฑา เนื้อที่ 160 ไร่ ราคา 870 ล้านบาท 3.ที่ดินทำเลแจ้งวัฒนะ เนื้อที่ 110 ไร่ ราคา 500 ล้านบาท และขายโครงการยูนิลอฟท์ เชียงใหม่ มูลค่า 500 ล้านบาท ให้แก่กองทุนฯ ซึ่งทั้งหมดจะรับรู้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้
“การขายทรัพย์สินดังกล่าวจะลดภาระการถือครองแลนด์แบงก์ลง ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่กว่า 2,000 ไร่ ในกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก โดยปี 58 จะเข้าสู่ภาวะปกติ และไม่จำเป็นต้องซื้อที่ดินจำนวนมากๆ ในช่วง 2-3 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้สุขภาพทางการเงินของเราแข็งแกร่ง” นายชายนิด กล่าว
กั๊ก 2 ทางเลือกขาย-ซื้อหุ้น KLAND
นายชายนิด กล่าวต่อว่า สำหรับการเจรจาซื้อหรือขายหุ้นในบริษัท กรุงเทพบ้านและที่ดิน จำกัด(มหาชน) หรือ KLAND ที่ PF ถืออยู่ประมาณ 20% ส่วนอีก 40% เป็นของบริษัท เฟรเซอร์แอนด์นีฟ จำกัด (มหาชน) หรือเอฟแอนด์เอ็น ซึ่งปัจจุบันเป็นธุรกิจของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี บริษัทพร้อมที่จะดำเนินการได้ทั้งซื้อหุ้น 40% จากเอฟแอนด์เอ็น หรือขายในส่วน 20% ของ PF ให้เอฟแอนด์เอ็น
“ถ้าให้ซื้อก็พร้อมที่จะซื้อ ถึงแม้ใครจะว่าเป็นคนจนไปซื้อคนรวยก็ตาม และเราก็พร้อมขายเช่นกัน เพราะถ้าขายเราก็ได้เงิน ซื้อเราก็ได้ส่วนต่างกำไร แต่ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจา ซึ่งการเจรจาจะต้องได้ข้อสรุปก่อนที่ KLAND จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปีนี้” นายชายนิด กล่าว
ส่วนธุรกิจโรงแรมคิโรโระ ในญี่ปุ่น ยืนยันว่าจะไม่มีการขายธุรกิจดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับ 2 กลุ่มธุรกิจใหญ่ คือ กลุ่มญี่ปุ่น 2 ราย ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับท่องเที่ยว และกลุ่มทุนจากสหรัฐฯ 2 ราย ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสกี และเชนแมริออท เพื่อบริหารโรงแรม ทั้งนี้ เพื่อสร้างผลกำไรแ ละฐานการเงินที่แข็งแกร่ง ยิ่งหากได้กลุ่มสหรัฐฯ เข้ามาจะยิ่งทำให้ผลตอบแทนได้ดีเพราะมีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจสกี