บมจ.มิลล์คอน ผนึกพันธมิตรตั้งบริษัทในสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ผู้บริหารระบุ พม่ามีศักยภาพในการทำตลาดเหล็กอีกมาก
นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มิลล์คอน จำกัด (มหาชน) หรือ MILL ระบุว่า ขณะนี้บริษัทจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่คณะกรรมการบริษัทได้มีมติการอนุมัติแผนการจัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นในสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2556 ตามมติที่ประชุมบริษัท ครั้งที่ 13/2556 ซึ่งได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นในสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เพื่อเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจของบริษัทในต่างประเทศ และเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจเพิ่มขึ้น
“บริษัทฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทต่อหน่วยงานภาครัฐของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เผยแพร่ข้อมูลล่าช้า เกิดจากกระบวนการจดจัดตั้งบริษัทในประเทศพม่ามีหลายขั้นตอน จึงใช้ระยะเวลานานจึงจะแล้วเสร็จ” นายสิทธิชัย กล่าว
โดยบริษัทย่อยที่จัดตั้ง ชื่อ บริษัท มิลล์คอน ธิฮา จำกัด ( Millcon Thiha Company Limited) เพื่อประกอบธุรกิจเทรดดิ้ง สินค้าเหล็ก และวัสดุก่อสร้าง ทุนจดทะเบียน 500,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ห้าแสนเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) ทุนชำระแล้ว 100,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (หนึ่งแสนเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรจากประเทศพม่า มีสัดส่วนการถือหุ้นคือ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 51, Myanmar Thiha Group of Company ถือหุ้นร้อยละ 49
“ปัจจุบัน เศรษฐกิจของประเทศพม่าได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการสนับสนุนของภาครัฐบาลพม่า ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น บริษัทจึงเล็งเห็นศักยภาพในการขยายการลงทุนในประเทศดังกล่าว จึงตัดสินใจร่วมทุนกับ Myanmar Thiha Group ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทลงทุนในพม่า” นายสิทธิชัย กล่าว
นายสิทธิชัย ยืนยันว่า การลงทุนดังกล่าวเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ประเทศพม่าถือว่าเป็นประเทศที่มีการเติบโตภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ทั้งนี้จากการลงทุนของภาครัฐบาลพม่าในการสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการลงทุนจากนานาประเทศ ทำให้ศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจเหล็กในพม่าค่อนข้างสูง สะท้อนได้จากการใช้เหล็กเฉลี่ยต่อประชากรประเทศพม่าในปัจจุบันที่ประมาณ 70 ล้านคน อยู่ที่ 19 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นปริมาณใช้รวมเพียง 1.33 ล้านตันต่อปีเท่านั้น
ขณะที่ประเทศไทย มีจำนวนประชากรอยู่ที่ 65 ล้านคน แต่มีปริมาณใช้เหล็กถึง 17.7 ล้านตันต่อปี ดังนั้น เมื่อพม่าเร่งพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมนานาประเทศในกลุ่ม AEC ธุรกิจเหล็กจึงมีทิศทางที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นสูงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การขยายตลาดไปยังพม่านั้น MILL จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มวัสดุก่อสร้างอย่างครบวงจร เป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดทางให้บริษัท ซึ่งเป็นธุรกิจเหล็กสัญชาติไทยที่ได้เข้าไปบุกเบิกอุตสาหกรรรมการก่อสร้าง และสร้างพื้นที่สำหรับ MILL ให้มีจุดยืน และเติบโตอย่างมั่นคงในประเทศพม่าเป็นรายแรกๆ ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบที่ดีของบริษัท