“ธ.ก.ส.” เตรียมจัดสรรเงินกู้งวดแรก จำนวน 30,000 ล้านบาท จ่ายคงค้างค่าจำนำข้าวให้ชาวนา ภายในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ส่วนงวดที่ 2 วงเงิน 20,000 ล้านบาท คาดจ่ายในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นไปตามกรอบระยะเวลาดำเนินงานที่กำหนดไว้ และตามใบประทวนที่รับลงทะเบียนจากเกษตรกร 192,000 ใบ ขณะที่ “เอสเอ็มอีแบงก์” ตั้งวงเงิน 1,000 ล้านบาท ออกสินเชื่อช่วยลูกค้าเดิมที่เครดิตดี ให้กู้ในวงเงินเดิมที่เคยได้รับโดยใช้หลักประกันเดิม
นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณจากกระทรวงคลัง ซึ่งเป็นการกู้เต็มวงเงินจากธนาคารออมสิน จำนวน 50,000 ล้านบาท ในวันนี้ (6 มิ.ย.) โดยจะจ่ายเงินงวดแรก วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดสรรไปตามพื้นที่ต่างๆ และทยอยจ่ายเงินคงค้างค่าจำนำข้าวให้แก่ชาวนา
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะเร่งจ่ายเงินส่วนที่เหลือให้ชาวนาทันทีเฉลี่ยประมาณวันละ 4,500-5,000 ล้านบาท โดยวงเงินก้อนนี้จะจ่ายเงินคงค้างให้ชาวนาแล้วเสร็จวันที่ 12 มิถุนายน 2557 นี้ จากนั้นธนาคารออมสิน จะจ่ายเงินงวดที่ 2 วงเงิน 20,000 ล้านบาท ในวันที่ 13 มิถุนายน 2557 นี้ ซึ่งเป็นไปตามกรอบระยะเวลาดำเนินงานที่กำหนดไว้ และตามใบประทวนที่รับลงทะเบียนจากเกษตรกร 192,000 ใบ
สำหรับการดำเนินการเบื้องต้น ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินคงค้างให้ชาวนาไปแล้วกว่า 43,000 ล้านบาท ทำให้เหลือวงเงินคงค้างประมาณ 50,000 ล้านบาท จากวงเงินคงค้างชาวนาทั้งหมดกว่า 93,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าอย่างช้าที่สุดจะสามารถจ่ายเงินคงค้างให้ชาวนาประมาณวันที่ 20 มิถุนายน 2557 นี้
นายสุพัฒน์ กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้หาแหล่งเงินกู้จาก 3-4 แหล่ง มาจ่ายเงินคงค้างค่าจำนำข้าวให้ชาวนา ทั้งการกู้เงินโดยสำนักงบประมาณ เงินจากการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ และเงินจากสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ซึ่งทาง ธ.ก.ส. จะเร่งดำเนินการจัดสรรเงินให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
น.ส.ปาริฉัตร เหล่าธีระศิริวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ Special SMES เพื่อช่วยลูกค้าธนาคาร สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง หรืออาจจะต้องการใช้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารได้เตรียมวงเงินสำหรับสินเชื่อดังกล่าว 1,000 ล้านบาท
สินเชื่อ Special SMES เป็นสินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้าชั้นดีของธนาคาร โดยคิดดอกเบี้ยพิเศษ MLR ต่อปีตลอดอายุโครงการ และอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถใช้หลักประกันเดิมที่เป็นที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเดิมที่มีอยู่แล้วกับธนาคารมาใช้เป็นหลักประกัน โดยกู้ได้ไม่เกินจากวงเงินสินเชื่อเดิม และมีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ ลูกค้าที่อยู่ในข่ายใช้บริการสินเชื่อโครงการนี้จะต้องผ่อนชำระเงินต้นกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และเป็นลูกค้าที่ไม่เคยขอผ่อนผัน หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้กับธนาคาร
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ทิศทางสินเชื่อเอสเอ็มอีช่วงครึ่งหลังปีนี้จะมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก หากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง และเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอาจมีอัตราการเติบโต ณ สิ้นปีนี้ ไม่ต่ำกว่า 7.5% ขณะในไตรมาส 2 สินเชื่อเอสเอ็มอีอาจเติบโตไม่น้อยกว่า 7.0% จากสิ้นปีก่อน หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น
“หากมาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมา ผนวกกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถประสบผลในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเรียกคืนความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคแล้ว”
ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวน่าจะช่วยหนุนการขยายตัวของสินเชื่อในกลุ่มผู้ประกอบการบางกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร กลุ่มผู้ประกอบการที่ให้บริการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กลุ่มผู้ประกอบการขายปลีกและขายส่งในบางพื้นที่ และกลุ่มผู้ประกอบการกิจการก่อสร้าง และยังมีกลุ่มผู้ประกอบการที่อาจเติบโตได้ตามการส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว และกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตเนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากวัฏจักรธุรกิจมากนักด้วย
ทั้งนี้ จากข้อมูลสัดส่วนของสินเชื่อตามกลุ่มลูกค้า ณ สิ้นปี 2553 ถึงไตรมาสแรกของปีนี้จะเห็นว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนของสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate Loan) ลดลง ซึ่งถูกทดแทนด้วยสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี แต่ในช่วงสิ้นไตรมาสแรกสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี มีการเติบโตชะลอลงโดยอยู่ที่ 11.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จาก 14.1% ณ สิ้นไตรมาส 4/2556 ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอลงต่อเนื่อง
สำหรับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อในภาคธุรกิจลดลง และยังส่งผลให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเริ่มเผชิญกับภาวะการขาดสภาพคล่อง และเริ่มผิดชำระหนี้กับธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมานั้น คาดในระหว่างที่รอพัฒนาการเชิงบวกจากอานิสงส์ของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ ธนาคารพาณิชย์ คงเน้นการเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากกว่าที่จะแข่งขันกันด้านราคาเพื่อแย่งชิงลูกค้า