xs
xsm
sm
md
lg

“ทนุศักดิ์” ยืนยันมีอำนาจเดินหน้าเร่งหาเงินจ่ายจำนำข้าว “ชาวนา” หันทำอาชีพเสริม-กู้เงินเลี้ยงชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทนุศักดิ์” ยืนยันมีอำนาจเดินหน้าเร่งหาเงินจ่ายจำนำข้าว และถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องหาเงิน 8 หมื่นล้าน เพื่อนำไปจ่ายหนี้ ขณะที่ผลสำรวจพบชาวนาหันไปหารายได้จากอาชีพเสริม และกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายเลี้ยงปากท้อง

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสันมนา “วิจัยสร้างนวัตกรรม ก้าวทันการเปลี่ยแปลง” โดยระบุว่า แนวทางการหาเงินรองรับการจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนายังเดินหน้าในหลายแนวทาง ทั้งการหาเงินจากกองทุนช่วยเหลือชาวนาที่ขณะนี้มียอดกว่า 11,000 ล้านบาท จึงคาดว่าจะระดมเงินฝากจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ครบ 20,000 ล้านบาท และปิดกองทุนได้ในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ แต่หากเงินฝากเข้ามาเร็วกว่ากำหนดก็สามารถปิดกองทุนได้ในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

นายทนุศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยืนยันอำนาจในการทำงานของ ครม. 26 คนที่เหลือมีอำนาจเต็มทางกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น จากนี้ไปจะเริ่มนัดประชุมผู้บริหารหน่วยงานกระทรวงการคลังและสถาบันการเงินของรัฐในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ เพื่อเริ่มเดินหน้าในการทำงานหลังจากนี้เป็นต้นไป ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง

สำหรับภารกิจเร่งด่วน คือ การหารือเกี่ยวกับการจ่ายเงินจำนำข้าวให้เกษตรกรที่เหลือ 70,000-80,000 ล้านบาท โดยมี 3 แนวทางในการหาแหล่งเงิน คือ 1.การเดินหน้ากู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ โดยวันนี้นัดหารือกับผู้บริหารสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เกี่ยวกับแนวทางการกู้เงิน 2.การขอยืมงบกลางเพิ่มอีก 20,000-40,000 ล้านบาท หลังกระทรวงพาณชย์นำเงินระบายข้าวคืนครบกลางเดือนพฤษภาคมนี้ และ 3.การระดมเงินจากกองทุนช่วยเหลือชาวนา

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า เตรียมแจ้งสถานะกองทุนช่วยเหลือชาวนาต่อคณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือชาวนาวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ จึงคาดว่าจะระดมเงินฝากได้ครบ 20,000 ล้านบาทในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ และขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการว่าจะขยายระยะเวลากองทุนฯ ต่อไปหรือไม่

โดยในช่วงที่ผ่านมา จ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาไปแล้ว 800,000 ราย ยังเหลืออีก 720,000 ราย เป็นเงินค้างจ่าย 82,000 ล้านบาท หากกองทุนช่วยเหลือชาวนาระดมเงินได้อีก 10,000 ล้านบาท จะทำให้กระทรวงการคลัง ต้องหาเงินอีก 70,000 ล้านบาท ส่วนแนวทางการออกพันธบัตร ธ.ก.ส. ไม่มีข้อจำกัดด้านการกู้เงินจากตลาด แต่ต้องมีภาระต้นทุนดอกเบี้ยสูง และการชำระเงินต้องรอเงินจากการระบายข้าวอาจไม่สอดคล้องกับอายุพันธบัตรเมื่อครบกำหนด จึงเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาเรื่องดังกล่าว

ขณะที่ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ได้เผยแพร่ผลสำรวจชาวนาผู้ร่วมโครงการจำนำข้าว พบว่า ในช่วงรอเงินจำนำข้าว ชาวนามีรายได้จากอาชีพเสริมมากที่สุดร้อยละ 30.7 รองลงมา คือ การกู้เงินร้อยละ 28.5 การนำเงินฝากมาใช้ร้อยละ 21.9 และจากบัตรสินเชื่อจ ธ.ก.ส.ร้อยละ 8.8 สำหรับความต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ คือ การเร่งหาเงินมาจ่ายในการจำนำข้าวมากที่สุด และต้องการให้ ธ.ก.ส.ช่วยลดภาระดอกเบี้ย และขยายเวลาในการชำระหนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น