xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนชาวนาเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 5 มี.ค.นี้ ธ.ก.ส.โอ่ถึง 2 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดิ้นอีกเฮือก ธ.ก.ส.ตีปี๊บกองทุนช่วยเหลือชาวนา 2 หมื่นล้านบาท จ่ายเงินประเดิม 110 ล้านบาท พร้อมชวนพนักงานร่วมสมทบก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 5 มี.ค.นี้ ระบุหากเงินกองทุนครบทุก 1 พันล้านบาท จะจัดสรรให้แก่ชาวนาตามลำดับใบประทวน เล็งเพิ่มเงินค่าตอบแทนมากกว่า 0.63% หากได้รับผลตอบรับที่ดี

วานนี้ (3 มี.ค.) เวลา 10.00 น. ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่บางเขน พนักงาน ธ.ก.ส.ได้ทยอยรวมตัวกันเพื่อร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนช่วยเหลือชาวนา ซึ่งนำโดยนายลักษณ์ จวนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ที่ร่วมเชิญชวนให้พนักงานแสดงจิตน้ำใจร่วมสมทบเงิน โดยที่ ธ.ก.ส.ได้สมทบเงิน 10 ล้านบาท เข้าบัญชีที่ 1 ซึ่งเป็นเงินบริจาค และ 100 ล้านบาท สมทบบัญชีที่ 2 ที่ไม่มีผลตอบแทน

นายลักษณ์ กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้เปิดโอกาสให้พนักงานได้ร่วมแสดงน้ำใจในการช่วยเหลือชาวนา ด้วยการสมทบเงินเข้ากองทุน ซึ่งเปิดดำเนินการวันที่ 3 มีนาคมเป็นวันแรก และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 มีนาคม ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นวันปิดโครงการ ซึ่งผู้สมทบเงินจะได้รับเงินต้นคืน สำหรับบกองทุนบัญชีที่ 2 และจะได้รับเงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับบัญชีที่ 3 ส่วนบัญชีที่ 1 ซึ่งเป็นเงินบริจาค ธ.ก.ส. โดยคณะกรรมการกองทุนจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชาวนา เช่น พัฒนาอาชีพต่างๆ

โดยหลังจากที่ได้เงินสมทบเข้ากองทุนแล้ว 1 พันล้านบาท ธ.ก.ส.จะจัดสรรเงินไปยังสาขาทั่วประเทศตามสัดส่วนใบประทวนที่ยังค้างจ่าย และจะจัดสรรทุกๆ 1 พันล้านบาท จากจำนวนเงินในโครงการ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะควบคู่กับเงินที่ได้รับจากรัฐบาล ทั้งเงินที่ได้จากการจัดหาโดยกระทรวงการคลัง และเงินจากการระบายข้าว ซึ่งจากนี้ไป กระทรวงพาณิชย์ จะจัดส่งเงินจากการระบายข้าวประมาณเดือนละ 8,000-10,000 ล้านบาท หรือจะได้เงินจากการระบายข้าว 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมากกว่าเงินสมทบจากกองทุน และจะไม่มีปัญหาต่อการจ่ายค่าค้างจ่ายใบประทวน

“การจัดตั้งกองทุนช่วยชาวนาถือเป็นการดำเนินการตามกรอบอำนาจที่ ธ.ก.ส.สามารถดำเนินการได้ ซึ่งในบัญชีที่ 3 ที่มีการจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 0.63% นั้นเป็นอัตราที่สามารถบริหารจัดการและรับผิดชอบโดย ธ.ก.ส. และ จะประเมินในช่วง 2 หากได้รับความสนใจมาก ก็อาจจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้” นายลักษณ์ กล่าวและว่า ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างการประเมินการออกพันธบัตร เพื่อระดมทุนเพิ่มเติมครั้งละ 2 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นการออกพันธบัตรออมทรัพย์ที่มีกระทรวงการคลังค้ำ และไม่ค้ำประกัน โดยอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในรูปแบบที่เหมาะสม

นายลักษณ์ กล่าวว่า ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ถือเป็นช่วงชำระหนี้ครั้งใหญ่ของ ธ.ก.ส. โดยมีหนี้ครบกำหนดประมาณ 8 หมื่นล้านบาท แต่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรที่ยังไมได้รับชำระค่าข้าวตามใบประทวน ธ.ก.ส.จึงได้ยืดอายุการชำระหนี้ออกไป 6 เดือน ในระหว่างรอการชำระเงินจากรัฐบาล ขณะที่ทางบัญชีของ ธ.ก.ส.เองก็ไม่ได้ถือว่าเป็นหนี้เสีย เนื่องจากจะถูกบันทึกเป็นลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างรอการชำระ แต่จะต้องกันสำรองเพิ่มในส่วนของดอกเบี้ยเท่านั้น ซึ่งไม่มากนักประมาณ 280 ล้านบาท ส่วนเกษตรกรที่จะเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ ธ.ก.ส.ได้เตรียมวงเงินสินเชื่อไว้แล้ว 4 หมื่นล้านบาท และอาจจะเพิ่มได้ถึง 8 หมื่นล้านบาท หากมีความต้องการมาก ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรมาใช้บริหารสินเชื่อไปแล้ว 1.5 พันล้านบาท ในช่วง 2 สัปดาห์ที่เปิดโครงการไป

ส่วนการบริหารสภาพคล่องจากการชำระหนี้ล่าช้าว่า ธนาคารไม่มีปัญหาด้านสภาพคล่องแต่อย่างใด โดยจะเห็นได้จากการตั้งวงเงินสินเชื่อเพื่อเพาะปลูกใหม่รายละไม่เกิน 1 แสนบาท รวมได้ถึง 8 หมื่นล้านบาท โดยไม่กระทบต่อการดำเนินงานปกติ และจากสถานะปัจจุบัน ธนาคารยังสามารถก่อหนี้ได้ถึง 1.4 แสนล้านบาท หรือ 6 เท่าของเงินกองทุน กรณีที่กระทรวงการคลัง ค้ำประกัน หรือ 1.2 ล้านล้านบาท หรือ 12 เท่าของเงินกองทุน กรณีที่ไม่ให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน

สำหรับโครงการรับจำนำข้าวนา ปีการผลิต 2556/57 ที่ปิดโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ธ.ก.ส.ได้จัดสรรเงินไปแล้วทั้งสิ้น 7.15 หมื่นล้านบาท หลังจากได้รับเงินเพิ่มเติมจากการระบายข้าว และได้จ่ายเงินให้แก่ชาวนาไปแล้ว 6.8 หมื่นล้านบาท จึงยังเหลือเงินประมาณ 3.5 พันล้านบาท ที่จะทยอยจ่ายให้แก่ชาวนา ระหว่างรอเงินจากกองทุนเข้าไปสมทบเพิ่มเติม
กำลังโหลดความคิดเห็น