xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ จับมือ บตท.จัดแคมเปญกระตุ้นสินเชื่อบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสิกรไทย จับมือ บตท. สานต่อโครงการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยวงเงิน 10,000 ล้านบาท พร้อมมอบสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว และดอกเบี้ยลอยตัวให้เลือก รวมทั้งสิทธิประโยชน์จาก K Home Smiles Club บริการปรึกษาเรื่องบ้านครบวงจรให้ลูกค้าที่เข้าโครงการ ครอบคลุมทั้งสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านใหม่ บ้านมือสอง และรีไฟแนนซ์

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ได้ร่วมมือในการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับปี 2557 วงเงิน 10,000 ล้านบาท ถือเป็นโครงการความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา บตท.ได้ซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารกสิกรไทยผ่านโครงการนี้ไปกว่า 5,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ ลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ บตท.และธนาคารกสิกรไทย จะได้รับสิทธิพิเศษด้วยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงที่ระยะยาว และอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวให้เลือกได้ 4 แบบ ได้แก่ แบบที่ 1 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก ที่ 4% แบบที่ 2 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก ที่ 4.75% แบบที่ 3 อัตราดอกเบี้ยลอยตัวพิเศษ 2 ปีแรก ที่ MLR-3.00% และแบบที่ 4 อัตราดอกเบี้ยลอยตัวพิเศษ 3 ปีแรก ที่ MLR-2.25% หลังจากระยะเวลาข้างต้น ทุกแบบจะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ MLR-0.25% ไปจนสิ้นสุดสัญญา

สำหรับผู้ร่วมโครงการจะได้รับบริการเช่นเดียวกับลูกค้าสินเชื่อบ้านกสิกรไทยทั่วไป รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์จาก K Home Smiles Club บริการปรึกษาเรื่องบ้านครบวงจรด้วยเช่นกัน เช่น บริการผู้จัดการส่วนตัวเรื่องบ้าน บริการเลขาส่วนตัว และบริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนน การร่วมสนุกในกิจกรรมพิเศษของธนาคารฯ รวมทั้งได้รับส่วนลด และสิทธิพิเศษจากสินค้าที่เกี่ยวกับบ้าน และครอบครัวจากบริษัทพันธมิตรมากกว่า 200 แห่ง

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม จนถึง 30 มิถุนายน 2557 ธนาคารฯ ยังมีแคมเปญการตลาดเพื่อสนับสนุนโครงการความร่วมมือฯ โดยมอบกระเป๋าเดินทาง Line Limited Edition มูลค่าสูงสุดใบละ 7,990 บาท ให้แก่ลูกค้าที่ยื่นกู้ และจดจำนองในโครงการ ผู้สนใจสามารถสมัครใช้บริการได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขาทั่วประเทศ หรือติดต่อ K-Contact Center โทร.0-2888-8888

นายปรีดี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นนโยบายของรัฐบาลส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ และระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทั้งสถาบันการเงิน ประชาชนผู้กู้ ตลอดจนผู้ลงทุนและสถาบันการลงทุนที่ได้ลงทุนในพันธบัตรของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยในปีที่ผ่านมา ธนาคารฯ ยังเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการออกตราสาร MBS (ตราสารที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง : Mortgage Backed Securities) มูลค่า 2,050 ล้านบาท

สำหรับความต้องการที่อยู่อาศัยในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ จากการที่ธนาคารกสิกรไทยได้มีโอกาสสัมผัส และใกล้ชิดกับลูกค้าทำให้เราทราบดีว่า มีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย โดยธนาคารกสิกรไทย ได้ตั้งเป้าปล่อยกู้สินเชื่อบ้านกสิกรไทยในปีนี้ถึง 52,000 ล้านบาท ดังนั้น ความร่วมมือโครงการความร่วมมือในการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารกสิกรไทย และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

ด้านนางพรนิภา หาชัยภูมิ กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) กล่าวว่า บตท. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อการซื้อขายสินเชื่อที่อยู่อาศัย วงเงิน 1 หมื่นล้านขึ้นในวันนี้ เพราะจากความร่วมมือนี้จะนำมาซึ่งประโยชน์แก่ภาคส่วนต่างๆ ทั้งด้านการขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยไปสู่ประชาชน เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อบ้านได้อย่างทั่วถึงด้านอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เกิดการเติบโตตามความต้องการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน ตลอดจนสามารถช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจทั้งระบบตลาดเงิน ตลาดทุน และระบบตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย

สำหรับความร่วมมือระหว่าง ธนาคารกสิกรไทย และ บตท. นับเป็นโมเดลต้นแบบที่ได้เริ่มทำธุรกรรมตั้งแต่กระบวนการซื้อขายสินเชื่อที่อยู่อาศัย การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจำหน่ายตราสาร MBS เพื่อจำหน่ายให้แก่นักลงทุนวงเงินไม่เกิน 2,050 ล้านบาท โดยได้รับการตอบรับจากนักลงทุน และมีความต้องการซื้อเกินวงเงินจัดจำหน่าย (Over Subscribe) กว่า 1.5 เท่า เมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้บทบาท บตท. ชัดเจนยิ่งขึ้นในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่มีหน้าที่เพื่อเป็นกลไกช่วยเติมเต็มระบบการเงิน ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบการเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยนำหลักการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือ “Securitization” สร้างประโยชน์ให้แก่สถาบันการเงิน ภาคตลาดทุน และช่วยให้ประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นับเป็นเป้าหมายหลักสำคัญของหน่วยงานแห่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น