ธปท. เผยยอดเงินฝากรวมตั๋วบี/อี ยังชะลอตัวต่อเนื่อง ตัวเลขล่าสุดเดือน เม.ย.57 โตแค่ 5.6% คาดเป็นผลจากผู้ฝากเงินหนี ดบ.ต่ำ โยกเงินไปลงทุนในตราสารอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบ ธ.พาณิชย์ เดือน มี.ค. ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนความแข็งแกร่ง
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ยอดเงินฝากรวมตั๋วแลกเงิน (บี/อี) ของสถาบันรับฝากเงินเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ขยายตัว 5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยชะลอลงจากเดือนก่อนที่ 6.8% ตามการชะลอลงของเงินฝากทั้งจากภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ
ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ฝากหันไปลงทุนในผลิตภัณฑ์การออมประเภทอื่น เช่น กองทุนตราสารหนี้ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก ขณะที่การแข่งขันระดมเงินฝากชะลอลงต่อเนื่อง โดยสถาบันการเงินเริ่มหันไปออกผลิตภัณฑ์ประเภทกองทุนเพื่อจูงใจผู้ฝากมากขึ้น นอกจากนี้ การชะลอลงของเงินฝากส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินฝากของรัฐบาลที่ลดลง
สำหรับสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินอื่นเดือน เม.ย.2557 ขยายตัว 8.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 8.8% ตามการชะลอลงของสินเชื่อภาคครัวเรือน เนื่องจากครัวเรือนยังระมัดระวังการใช้จ่ายในช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการเมืองยังมีความไม่แน่นอน ประกอบกับสถาบันการเงินยังคงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ภาคธุรกิจค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ในส่วนของสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ เดือน เม.ย. 2557 ยังอยู่ในระดับสูงที่ 96.7% ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ 95.9% ตามสินเชื่อที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และสูงกว่าการขยายตัวของเงินฝาก
“อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์ เดือน มี.ค.2557 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนมาเฉลี่ยอยู่ที่ 15.5% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดมาก สะท้อนฐานะทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ที่แข็งแกร่ง”
ด้านอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินให้กู้ของธนาคารพาณิชย์ ณ วันที่ 1-23 พ.ค.2557 โดยรวมไม่เปลี่ยนแปลงจาก ณ สิ้นเดือน เม.ย.2557 หลังจากปรับลดลงต่อเนื่องตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสแรก โดย ณ วันที่ 23 พ.ค.2557 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน และอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้าชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง อยู่ที่ 1.73% และ 6.75% ต่อปีตามลำดับ โดยลดลง 0.50% และ 0.09% นับจากสิ้นปี 2556
รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจเริ่มส่งผลกระทบต่อผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2557 ของภาคธุรกิจหลายสาขาเศรษฐกิจ โดยผลกำไร และความสามารถในการชำระหนี้ปรับลดลงบ้าง แต่ภาคธุรกิจโดยรวมยังมีเสถียรภาพ สะท้อนจากสัดส่วนความเป็นหนี้ และสภาพคล่องของภาคธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2557 ของภาคธุรกิจโดยรวมปรับลดลงจากไตรมาสก่อน จากรายได้ที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อรายได้ทั้งหมด(Net Profit Margin หรือ NPM) ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 5.2% มาอยู่ที่ 4.7%
อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพโดยรวมของภาคธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งความสามารถในการชำระหนี้ สภาพคล่อง และภาระหนี้ของภาคธุรกิจ โดยอัตราส่วนรายได้ต่อภาระดอกเบี้ยจ่าย (Interest Coverage Ratio หรือ ICR) อัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเวียน (Current Ratio หรือ CR) และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio หรือ D/E) ในไตรมาสนี้ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย
ทั้งนี้ หากพิจารณารายสาขาเศรษฐกิจ พบว่า ภาคค้าส่งค้าปลีกมีความเปราะบางน้อยลง สะท้อนจากความสามารถในการชำระหนี้ที่ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามภาระต้นทุนที่ลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถควบคุมต้นทุนได้มากขึ้น
ขณะที่ภาคบริการ กลุ่มสื่อสาร และบันเทิงมีความเปราะบางเพิ่มขึ้น ตามยอดขายที่ลดลงมาก ประกอบกับมีการก่อหนี้สูงขึ้นสะท้อนจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.8% เท่าในไตรมาสนี้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว (ไตรมาสที่ 1 ปี 2547 ถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2557) ที่ 0.6 เท่า ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคบริการลดลง