xs
xsm
sm
md
lg

“ฟิทช์ฯ-เอสแอนด์พี” เตือนการเมือง H2/57 ยังแย่ อาจกระทบเครดิตประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เอสแอนด์พี” พร้อมปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย หากเสถียรภาพการเมืองถดถอย และรุนแรง และอาจปรับเพิ่มหากคลี่คลายชัดเจน ขณะที่ “ฟิทช์ฯ” ระบุ หากการเมืองไทยยังไร้เสถียรภาพในต้น H2/57 อาจส่งผลต่อเครดิตประเทศ

น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยบริษัท Standard and Poor’s (เอสแอนด์พี) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยระบุว่า S&P’s มองเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นจุดอ่อนหลักของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา การเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้งตั้งแต่ปี 2549 ทำให้การปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ ต้องล่าช้าออกไป รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลด้วย และผลจากความไม่แน่นอนดังกล่าวจึงเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงจากการชุมนุมทางการเมืองได้สร้างความเสียหายแก่ภาคการท่องเที่ยวของประเทศอย่างรุนแรง และถึงแม้ว่ากองทัพได้ประกาศกฎอัยการศึกในสัปดาห์นี้ แต่กองทัพยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการพยายามช่วงชิงอำนาจมาจากรัฐบาลที่ยังคงรักษาการอยู่ ในมุมมองของ S&P’s เห็นว่า การดำเนินการของกองทัพอาจช่วยให้สถานการณ์มีเสถียรภาพโดยการยับยั้งข้อขัดแย้งรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยได้มีการนำแกนนำทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจาต่อรองร่วมกันเพื่อหาแนวทางการแก้ไขชั่วคราวเพื่อให้สามารถจัดการการเลือกตั้งได้อีกครั้ง

ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการบริโภค และการลงทุน และส่งผลให้แนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะใกล้ปรับลดลงด้วย ทั้งนี้ S&P’s ได้คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวของไทยในปี 2557 ไว้ที่ 5,700 เหรียญสหรัฐ ซึ่งระดับรายได้นี้นับเป็นข้อจำกัดสำคัญต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในระยะกลาง แม้ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตในระดับเดียวกันกับในช่วงที่สภาวการณ์ทางการเมืองเป็นปกติ นอกจากนี้ S&P’s เห็นว่า ตัวชี้วัดด้านระดับรายได้ของประเทศไทย ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สาธารณสุข และการศึกษา ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า

แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพนี้ สะท้อนถึงการคาดการณ์ของ S&P’s ว่า ประเทศไทยจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของภาคต่างประเทศ ภาคการคลัง และภาคการเงินภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในปัจจุบันไว้ได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ดี S&P’s อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยได้หากเสถียรภาพทางด้านการเมือง และสถาบันถดถอยลงไปมากกว่าที่ S&P’s สังเกตการณ์ไว้ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง S&P’s มองว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นได้หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และ S&P’s อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือได้อีกหากตัวชี้วัดด้านการคลัง หรือด้านเศรษฐกิจของประเทศอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกัน S&P’s อาจดำเนินการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือให้ประเทศไทยได้หากความไม่แน่นอนทางการเมืองคลี่คลายลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะช่วยให้ตัวชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจ และการเงินดีขึ้น โดย S&P’s มองว่าสถานการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้หากขั้วทางการเมืองหลักทั้ง 2 ฝ่ายในประเทศไทยสามารถจัดการเจรจาหาข้อตกลงได้ในที่สุด

“ฟิทช์” เตือนการเมืองยังไร้เสถียรภาพ H2/57 อาจกระทบเครดิตประเทศ

ส่วนบทวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้ง จำกัด (Fitch Ratings Fitch) ซึ่งได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ถึงการทำรัฐประหารของประเทศไทยว่า ไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือในทันทีทันใด

ทั้งนี้ ฟิทช์ เห็นว่า การที่กองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นปัจจัยเชิงลบที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ สำหรับปฏิกิริยาตอบสนองทางการเมืองต่อการทำรัฐประหารจะเป็นเพียงความวุ่นวายในระยะสั้นเท่านั้น การยอมปฏิบัติตามรัฐบาลใหม่ที่มาจากกองทัพ หรือที่มีกองทัพหนุนหลังอย่างกว้างขวาง ตามด้วยกระบวนการที่โปร่งใสที่นำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่น่าจะส่งผลเชิงบวกต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการเมืองในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การที่กลุ่มทางการเมืองหลักไม่ยอมรับการทำรัฐประหารอาจนำไปสู่การเผชิญหน้า ที่ตึงเครียดขึ้น และเสี่ยงต่อการบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และนักลงทุนมากยิ่งขึ้น หากกระบวนการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองยังไม่เรียบร้อยภายในช่วงต้นของครึ่งปีหลังแล้ว คาดว่าอาจเกิดความเสียหายที่ยาวนานต่อเศรษฐกิจเพิ่ม และอาจจะส่งผลลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในที่สุด

ขณะที่ฟิทช์ คาดว่า จะปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.5% ลงอีก บนพื้นฐานของความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่ และข้อมูลทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอในไตรมาสแรกที่เศรษฐกิจไทยได้หดตัวลง 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรัฐบาลเองได้ปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมาอยู่ในช่วง 1.5-2.5% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3-4%

การที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะที่ดีเพียงพอที่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากเหตุการณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดในช่วงสั้นๆ นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign Currency IDR) ของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ BBB+

สำหรับปัจจัยรองรับทางด้านเศรษฐกิจมหภาคยังคงแข็งแกร่งเพียงพอที่จะต้านทานแรงกดดันได้ในระยะสั้น ถึงแม้ว่าตลาดของไทยจะอยู่ในสภาวะที่แย่กว่าประเทศในภูมิภาค อันเนื่องมาจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และการเผชิญกับการไหลออกของเงินทุน ซึ่งปัจจัยรองรับดังกล่าวรวมถึงสถานะในการเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิที่แข็งแกร่งที่คิดเป็น 35% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หนี้รัฐบาลที่อยู่ในระดับปานกลางที่คิดเป็น 32% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำโดยเปรียบเทียบ และมีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของไทยในระยะยาว คือ ประเทศไทยจะสามารถก้าวผ่านความแตกแยกทางสังคม และสามารถบริหารประเทศได้อย่างปกติหรือไม่ ซึ่งฟิทช์ มองว่า หากปราศจากรัฐบาลที่มีเสถียรภาพที่สามารถดำเนินนโยบายส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจนทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ระดับปานกลางได้นั้น ประเทศไทยจะเสี่ยงต่อการถูกทิ้งให้ล้าหลังกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคในด้านการพัฒนา และศักยภาพการเจริญเติบโตของประเทศ โดยแนวโน้มอัตราการเจริญเติบโตอาจลดลงมาอยู่ที่ 3-3.5% ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่ต่ำสำหรับเศรษฐกิจที่อยู่ในขั้นกำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น