xs
xsm
sm
md
lg

กูรูมองลงทุนในประเทศต้องระวัง การเมืองร้อนกดดันภาพรวม ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางปัญหาร้อนระอุทางการเมืองไทย แม้จะมีข่าวดีข่าวร้ายปะปนกันไป แต่สิ่งที่เราทุกคนสัมผัสได้คือสภาพเศรษฐกิจไทยตอนนี้ที่ป่วยตามปัญหาการเมืองไทย ซึ่งหากการเมืองไทยไม่คลี่คลาย สภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรนั้น เราลองมาดูมุมมองของเหล่าผู้ที่กว้างขวางในวงการการเงิน การลงทุน กันว่าจะมีมุมมองเป็นเช่นไร เริ่มที่.......

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า ในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ ธปท.จะพิจารณาปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 57 คาดว่าจะลดลงจากเดิมที่ประเมินไว้ว่าจะเติบโตราว 2.7% แต่คงยังไม่ถึงกับติดลบ โดยมองว่าการส่งออกจะเป็นตัวหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการบริโภค และการลงทุนอาจจะยังไม่ดีนัก แต่ก็อาจจะปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการส่งออกในปีนี้ลงจากที่เคยประเมินไว้ในระดับ 4.5% เนื่องจากตัวเลขในไตรมาสแรกออกมาต่ำกว่าคาด

อย่างไรก็ตาม พื้นฐานเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังแข็งแกร่งพอสมควร หากการเมืองคลี่คลายลงได้เร็วก็เชื่อว่าปีหน้าเศรษฐกิจก็น่าจะเติบโตมากขึ้นกว่าปีนี้ที่มีการเติบโตค่อนข้างต่ำ โดยในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยคงยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองมากนัก แต่ในระยะกลางอาจได้รับผลกระทบเพราะไม่มีการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้น แม้จะมีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ชุดใหม่มาทำหน้าที่อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้ว แต่ในแง่ปฏิบัติจริงก็ยังต้องใช้เวลา ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศก็ยังชะลอการลงทุน ดังนั้น หากปัญหาการเมืองหมดไปในช่วงกลางปีนี้ได้ก็จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว

ทั้งนี้ ในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แม้เกิดปัญหาบ้าง โดยสถานการณ์ปัจจุบัน กนง.มีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.00% ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5% ขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงินก็มีอยู่สูง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยไม่ได้เป็นปัญหาต่อเอกชน

ส่วนสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์การเมืองเป็นหลัก เพราะเป็นปัจจัยหลักที่กดดันเศรษฐกิจ หากไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ ยืดเยื้อจนถึงไตรมาส 3 ของปีนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม และเป็นห่วงว่าจะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้อาจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2 และการไม่มีทิศทางนโยบายที่ชัดเจนอาจทำให้ภาพลักษณ์ประเทศในสายตานักลงทุนมีความเชื่อมั่นลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน

วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ กล่าวว่า ปัจจัยการเมืองยังเป็นปัจจัยที่ต้องตามติดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 9-13 พ.ค. 57 นี้ว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากเกิดขึ้นตลาดหุ้นไทยที่ระดับ 1,300 จุดก็คงรับไม่อยู่ เดิมบริษัทมองว่ากรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีจะอยู่ในช่วง 1,200-1,550 จุด แต่ปัจจุบันระดับ 1,500 จุดอาจจะไม่ถึงแล้ว และในระยะสั้นระดับ 1,350 จุดเองก็อาจจะรับไม่อยู่

ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่าน่าจะมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศได้ภายในเดือน ต.ค. 57 เพียงแต่อาจจะเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น

เลือกลงทุนกองไหนดี???

ทางด้านนักวิเคราะห์กองทุนรวม สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล Fund Super Mart Analyst บล.ฟิลลิป ประเมินว่า การเมืองไทยยังคงเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ถึงแม้ว่าปัจจัยภายนอกจะดี แต่ในเดือนนี้คงต้องระมัดระวังการลงทุน ส่วนการส่งออกก็ยังพอไปได้ถึงแม้ไม่ดีมากนัก และผลประกอบการหุ้นในตลาดดูไม่ตกต่ำมากนัก แต่การเมืองอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจแย่มากกว่าเดิม เพราะมีหลายปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลรักษาการ พบกับปัญหาตลอดเดือนนี้ ทางเราได้คาดว่าในระยะกลางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยน่าจะมีการปรับตัวลดลงได้อีก ซึ่งก็ต้องลุ้นกันต่อไป

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ทางเรายังคงแนะนำกองทุน SMART หรือ KFMTFI เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาลงในช่วงนี้และเหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงจากความผันผวนของการเมืองไม่ได้ ส่วนนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยงหรือรอจังหวะกลับเข้าลงทุน เราแนะนำให้พักเงินรอในกองทุนตลาดเงินก่อนจะลงทุนในตลาดหุ้นด้วยกองทุนตลาดเงินที่แนะนำยังคงเป็น PCASH ซึ่งมีความปลอดภัยสูง

ส่วนการลงทุนในหุ้นไทยนั้นเรายังคงต้องจับตาการเมืองต่อไปซึ่งทีท่าไม่ค่อยดีนัก แต่นักลงทุนก็ยังสามารถลงทุนได้ โดยเราแนะนำให้ทยอยซื้อ ด้วยเทคนิค DCA โดยเฉลี่ยซื้อ กองทุนด้วยจำนวนเงินที่เท่าๆ กัน ทุกๆ เดือน เพื่อลดความเสี่ยงจากการเมืองในตลอดทั้งปีนี้ โดยกองทุนหุ้นที่เราแนะนำคือ ABSM และ KFSDIV

สำหรับกองทุนหุ้นต่างประเทศยังคงน่าสนใจ โดยการเติบโตของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังคงเป็นไปตามคาด แม้ว่าจะมีความผันผวนให้เห็นบ้างแต่ก็เป็นแค่ชั่วคราว ส่วนปัญหารัสเซีย-ยูเครนยังต้องติดตามต่อ หากอนาคตบานปลายมากก็อาจจะเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลงได้ ดังนั้น เรายังคงคำแนะนำให้ลงทุนในกองทุนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วต่อเนื่อง เช่นกองทุนหุ้นตามดัชนีของสหรัฐฯ S&P500 คือ ASP-S&P500 โดยเฉพาะกองทุนหุ้นยุโรปที่ราคาหุ้นในยุโรปยังไม่สูงนัก กองทุนแนะนำคือ KF-Europe,K-Europe ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นเราแนะนำกองทุน SCB-NKY225 ผลเนื่องจากญี่ปุ่นมีการขึ้น VAT จาก 5% เป็น 8% ยังไม่ทำให้การบริโภคลดลงแต่อย่างใด

สานุพงศ์กล่าวต่อว่า เรื่องภาวะวิกฤตในยูเครนดูมีความรุนแรงมาก ส่งผลบวกต่อราคาทองคำในช่วงนี้เป็นพักๆ ตามข่าวที่เกิดขึ้น แต่ด้านปัจจัยลบที่ยังคงอยู่คือ ราคาทองคำมีแรงกดดันจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีตัวเลขที่ดีขึ้นอย่างมาก รวมถึงมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้สินค้าอย่างทองคำที่ไม่สามารถให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ที่ลงทุนได้มีโอกาสปรับตัวลดลงได้ในระยะยาว ส่วนราคาน้ำมันยังได้ปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของสหรัฐฯ และน้ำมันก็ยังมีอุปทานที่จำกัด ส่วนลิเบียเพิ่งจะเริ่มมีการส่งออกน้ำมันได้ และผลิตน้ำมันได้มากขึ้น ดังนั้นช่วงระยะสั้นนี้น้ำมันมีความผันผวนแต่เป็นไปในทางบวก ส่วนระยะยาวนั้นมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการที่เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วปรับตัวดีขี้น
กำลังโหลดความคิดเห็น