ในช่วงระยะเวลา 7 วันที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีวันหยุดยาวทั้งในประเทศไทย คือ เทศกาลสงกรานต์ (วันที่ 13-15 เมษายน พ.ศ.2557) และเทศกาลอีสเตอร์ (วันที่ 18-20 เมษายน พ.ศ.2557) มีส่วนทำให้ราคาทองคำในประเทศไทย และในตลาดต่างประเทศเคลื่อไหวในระดับต่ำ โดยราคาทองคำในประเทศมีระดับราคาต่ำสุดที่ 19,550-19,650 บาทต่อน้ำหนักทอง 1 บาท และสูงสุดที่ 19,800-19,900 บาทต่อน้ำหนักทอง 1 บาท โดยวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2557 ลดลงไปถึง 2.05% เนื่องจากนักลงทุนเริ่มกังวลว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FOMF จะปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือมาตรการ QE ที่ปัจจุบันคงเหลือเพียง 55,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน และคงทยอยปรับลดลงอีกเดือนละ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐจนกว่าจะหมด
ส่วนราคาทองคำในตลาดโลกช่วงเทศกาลอีสเตอร์ ราคาปรับลดลงถึงระดับ 1,285.52 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เนื่องจากค่าเงินสหรัฐฯ แข็งขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศยูเครนเริ่มคลี่คลายลง ทำให้นักลงทุนขายทองคำเพื่อย้ายเข้าไปลงทุนในตลาดเงิน และตลาดหุ้นที่มีทิศทางดีขึ้น แต่ก็มีการวิเคราะห์ราคาทองคำจากนักวิเคราห์ในต่างประเทศว่า ณ สิ้นปี 2257 ราคาทองคำอาจแตะที่ 1,150 ดอลลาร์สหรัฐต่ออร์ ซึ่งโดยส่วนตัวก็ไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ทั่วโลกเปลี่ยนแปลงตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น จะถือบทวิเคราห์จากต่างชาติเป็นบรรทัดฐานคงไม่ได้
ทั้งนี้ คาดว่าราคาทองคำในตลาดต่างประเทศน่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับต่ำสุดที่ 1,845.50 สูงสุดที่ 1,305.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศจะอยู่ที่ระดับ 19,100-20,200 บาทต่อน้ำหนักทอง 1 บาท โดยนักลงทุนต้องคำนึงด้วยว่าการลงทุนในตลาดทองคำ และตลาดฟิวเจอร์ส ควรเลือกพิจารณาก่อนการลงทุนให้ดี การฟังบทวิเคราะห์เป็นเพียงข้อมูลประกอบการตัดสินใจเท่านั้น และคงต้องย้ำเตือนกันเช่นทุกครั้งที่ขอให้นักลงทุนพิจารณาคำเชิญชวนให้เข้าลงทุนใน “โกลด์ฟิวเจอร์ส” และ “โกลด์ on line 24 ชั่วโมง” ที่ไม่มีการส่งมอบทองคำจริงจริงด้วยความรอบคอบ เพราะหากปล่อยให้ความโลภเข้าครอบงำ เมื่อสูญเสียแล้วไม่สามารถเรียกร้องความรับผิดชอบจากหน่วยงานใดได้ เพราะต้องย้ำอีกครั้งว่าสมาคมค้าทองคำเป็นสมาคมที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานประสานข้อมูลระหว่างร้านค้าทองคำ กับภาครัฐบาล รวมถึงประกาศราคาทองคำวันต่อวันให้ร้านค้าทองคำทั่วประเทศรับทราบ มิได้มีหน้าที่รับประกันคุณภาพทองรูปพรรณของร้านค้าทองคำใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ขอให้ทุกท่านเลือกลงทุนอย่างมีสติ เพื่อป้องกัน และลดความเสี่ยที่ดีที่สุดให้แก่ทุกท่าน
การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจลงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.25% ส่งผลให้อัตราการจ้างงานเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อยู่ในอัตรา 6.7% ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่ลดลง และเป็นที่น่าสังเกตว่า อัตราการเกิดธุรกิจรายย่อยรายใหม่ปรับลดลง อัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นไปกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจในสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้น เพราะระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา คนรวย และบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ หาวิธีการเลี่ยงภาษีด้วยการตั้งบริษัทลูก และโอนรายได้บางส่วนไป ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ สูญรายได้ถึง 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลจึงต้องหาทางแก้ไขด้วยการให้ธุรกิจขนาดเล็ก และประชาชนสหรัฐฯ เสียภาษีเพิ่ม โดยคาดว่าประชาชนจะต้องเสียภาษีเพิ่มถึง 1,259 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนทีเดียว *** ขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้สั่งให้ธนาคาขนาดใหญ่ 8 แห่งในสหรัฐฯ ประกอบด้วย แบงก์ออฟอเมริกา / แบงก์ออฟนิวยอร์ก เมลลอน / ซิตี้กรุ๊ป / โกล์ดแมนแซคส์ / เจพีมอร์แกน เซลี / มอร์แกนแสตนเลย์ / สเตท สตรีท / เวลท์ ฟาร์โก เพิ่มทุนอีก 2% เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากวิกฤตการเงิน และผลกระทบจากปัฐหาเศรษฐกิจมหภาค หลังจากเข้าไปตรวจสอบฐานะทางการเงิน และเพิ่มให้สอดคล้องกับกำหนดเพิ่มทุนสูงสุด 3% ตามกฎบาเซิล 3***
องค์การการค้าโลก หรือ WTO ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์อัตราการค้าโลกในปี 2014 ขึ้นมาอยู่ที่ 4.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.5% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และยุโรป โดย WTO ระบุให้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดปริมาณมหาศาลทั้งในอินเดีย ตุรกี รวมถึงความเสี่ยงด้านค่าเงินในอาร์เจนตินา และความตึงเครียดตามแนวชายแดนในตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ หากมีการตั้งข้อสังเกตจะเห็นว่าปัญหาหนิ้สินเป็นปัญหาหลักที่นำไปสู่การขาดสภาพคล่องทั้งในยุโรป และญี่ปุ่น เพราะถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเริ่มฟื้นตัว แต่การที่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังอยู่เพียง 1.0% ห่างจากที่ตั้งเป้าไว้ 2.0% แม้ว่า FOMC จะพยายามใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแต่จำนวนเงินที่อัดฉีดลงไปไม่ถึงภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง และการเก็งกำไรต่างๆ ส่งผลให้รายได้ประชาชนไม่เพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคชะลอตัวลง รัฐบาลสหรัฐฯ จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำโดยเร็ว เพราะเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย รัสเซีย แอฟริกาใต้ และอาร์เจนตินา ที่รัฐบาลกำลังเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
หันมาดูการแก้ไขปัญหาเศรฐกิจในจีน หลังจากที่มีการคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ทั้งปี 2014 จะขยายตัวได้เพียง 7.4% ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจในปีนี้เลวร้ายที่สุดในรอบ 25 ปี และมีตัวเลขสินเชื่อเดือนมีนาคม อยู่ที่ 2.07 ล้านล้านหยวน ซึ่งปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 2.55 ล้านล้านหยวน และปริมาณเงินหมุนเวียนขยายตัวขึ้นเพียง 12.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ประกอบกับรายได้จากการส่งออกปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก และรัฐบาลจีนเริ่มหันมากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
ปัญหาการว่างงานในจีน จะกลายเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจเพราะจากเดิมที่จีนพึ่งพาการส่งออกซึ่งเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างการจ้างงานได้อย่างมหาศาล แต่เมื่อหันมาผลิตเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และลดการผลิตส่วนที่ไม่จำเป็นลง ทำให้คงงานในโรงงานอุตสาหกรรมภาคการส่งออกกลายเป็นคนว่างงาน และส่วนมากก็เป็นแรงงานไร้ทักษะ ไม่สามารถพัฒนาเข้าสู่แรงงานภาคการบริโภค เช่น ธนาคาร สายการบิน ร้านค้า ได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวก่อนที่จะลุกลามจนไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งกลับกลายเป็นว่าผู้ประกอบการ SME ในประเทศสิงคโปร์ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากการที่รัฐบาลจีนกระตุ้นการบริโภคครั้งนี้ เพราะเป็นกลุ่มธุรกิจทั้งอุปโภคบริโภค การขนส่ง และพลังงาน ประกอบกับรัฐบาลสิงคโปร์พยายามผลักดันให้ SME ของตนเข้าไปประกอบธุรกิจในจีน