นอกจากข่าวครึกโครมการเตรียมเปิดจองหุ้นไอพีโอ บมจ.เครื่องดื่มชาเขียวรายใหญ่ เมื่อเร็วๆ นี้ หากไม่ผิดพลาดประการใด นักลงทุนจะได้มีโอกาสทำการบ้านกับราคาไอพีโอหุ้นน้องใหม่ในตลาดหุ้นไทยอีกหนึ่งรายในช่วงปลายเมษายน นั่นคือ “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979” ที่เตรียมเปิดจองหุ้นไอพีโอในช่วงเมษายนนี้เช่นกัน
SAWAD พร้อมสยายปิกสู่ตลาด AEC
“ดวงใจ แก้วบุตตา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ยืนยันต่อ “ASTVผู้จัดการ” ว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะขยายธุรกิจเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเบื้องต้นได้ตั้งทีมงานเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ทั้งทีมงานด้านกฎหมายเพื่อศึกษาข้อกฎหมายของแต่ละประเทศ ควบคู่กับการศึกษาวัฒนาธรรมของแต่ละท้องถิ่น ถือเป็นการทำความรู้จักกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
โดยคาดว่าจะเริ่มที่ประเทศพม่า เวียดนาม ด้วยการอาศัยสาขาบริเวณแนวตะเข็บชายแดนกว่า 180 สาขา เป็นสาขานำร่องเข้าไปเพราะการเปิดสาขาของเราไม่ยุ่งยากใช้งบประมาณสาขาละประมาณ 300,000 บาท มีอาคาร มีอุปกรณ์สำนักงานที่จำเป็น และเจ้าหน้าที่ประจำสาขาละ 2-3 คน ซึ่งเราคงเน้นใช้คนในพื้นที่โดยส่งพนักงานเข้าไปอบรม โดยเน้นหนักไปที่เทคนิคการดูหลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกัน การแนะนำให้ลูกค้ากรอกเอกสาร การตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้อง ฯลฯ ส่วนจะเริ่มได้เมื่อไหร่ ทางบริษัทพร้อมเสมอหากกฎหมายของแต่ละพื้นที่ที่เราจะรุกเข้าไปมีความชัดเจน และเรามั่นใจว่าจะเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจสินเชื่อประเภท non bank
“เราคงต้องศึกษาเรื่องกฎหมายอย่างชัดเจน เพราะธุรกิจของเราเป็นธุรกิจสินเชื่อ ซึ่งมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง 100% ถ้าเราไม่ศึกษากฎหมายของเขาให้ดีก็มีโอกาสเจ็บตัวกลับมาได้สูง ที่มองไว้ก็คงจะเริ่มที่พม่า เพราะเป็นประเทศที่เราค่อนขางคุ้นเคย มีสาขาที่แม่สาย และขะเข็บชายแดนที่สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้ได้ อีกอย่างพม่าถือเป็นประเทศที่หลักทรัพย์ค้ำประกันยังสดอยู่มาก ส่วนเวียดนาม แม้จะเป็นประเทศที่ธุรกิจสินเชื่อรุกเข้าไปมากแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าความต้องการเงินสดมีเพิ่มมากขึ้นได้ตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการที่มีผู้ประกอบการเข้าไปจำนวนมากแล้ว การศึกษาแนวทางการดำเนินงานก็ง่ายกว่าประเทศที่ต้องเข้าไปเริ่มใหม่ทั้งหมด”
ในประเทศมุ่งรายย่อย-เน้นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
สำหรับตลาดในประเทศ บมจ.ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 หรือ SAWAD เน้นทำตลาดเจาะเข้าไปที่กลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อทางการเงินของธนาคารได้ ซึ่งการปล่อยสินเชื่อจะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่นำเงินไปหมุนทำกิจการ เช่น กลุ่มพ่อค้า-แม่ค้า ชาวสวน อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ คือเน้นว่าจะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยเราชอบหลักทรัพย์ที่เป็นรถมือสอง ทั้งรถกะบะ ซึ่งมีสัดส่วนลูกค้า 50% รถมอต์เตอร์ไซค์ สัดส่วนลูกค้า 17% และฉโดนบ้าน ที่ดินซึ่งมีสัดส่วนลูกค้า 10% ลักษณะการเลือกพื้นที่เปิดสาขาของเรา จะเน้นเข้าถึงชุมชน สาขาของเราจะตั้งอยู่ในตลาดซึ่งเป็นแหล่งที่คนเห็นง่าย เดินทางมาง่าย ทั้งนี้ ในอนาคตบริษัทมีแนวโน้มจะขยายลักษณะการดำเนินธุรกิจด้วยการรับซื้อหนี้จากธนาคาร หรือสถาบันการเงินมาบริหาร โดยเราอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และสภาพคล่องของบริษัท
เล็งช่วยชาวนาใช้ใบประทวนค้ำประกัน
ส่วนกรณีที่มีกลุ่มเกษตรกรชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับเงินจำนำข้าวนั้น อยากชี้แจงว่าเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวไม่ใช่เป้าหมายลูกค้าที่เข้ามาขอสินเชื่อจากบริษัท เนื่องจากลักษณะการให้บริการของเราจะเน้นตามสโลแกน “มีบ้าน มีรถ เงินสดทันใจ” และอย่างที่บอก เราชอบรถกระบะ รถมอเตอร์ไซค์ เพราะเปลี่ยนแปลงง่าย เร็ว การทำนาโดยส่วนใหญ่ชาวนาจะไม่มีรถ หรือถ้าเป็นรถเกี่ยวข้าว ก็จะเป็นของนายทุนที่ดาวน์รถมารับจ้างเกี่ยวข้าว ซึ่งก็ไม่ใช่ตลาดของเรา เพราะการผ่อนดาวน์เล่มทะเบียนรถย่อมไม่ใช่ของผู้ใช้รถ
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความพร้อมที่จะรับพิจารณาหากมีลูกค้านำใบประทวนรับจำนำข้าวเข้ามายื่นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินระยะสั้น เนื่องจากถือเป็นหลักทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนสภาพได้อย่างรวดเร็วชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ บริษัทยังไม่มีความจำเป็นต้องตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น คาดว่าจะอยู่ที่ระดับเดียวกับปีก่อนที่ 4.1% เนื่องจากการบริหารจัดการหนี้ดีขึ้น และการปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักประกัน หากลูกค้ามีการผิดชำระสามารถยึดหลักประกันได้ ทำให้ NPL ของบริษัทอยู่ในระดับที่ไม่สูง ปี 2556 อยู่ที่ 3.7%
“การที่เราเน้นตลาดรถมือสองเพราะมีเล่มทะเบียนเป็นชื่อลูกค้า โดยไม่ติดไฟแนนซ์หากเกิดกรณีที่รถต้องเปลี่ยนมือก็ทำได้ง่าย และเมื่อบริษัทได้ทรัพย์ของลูกค้ามาเราเปิดโอกาสให้ลูกค้าหาเงินมาไถ่ทรัพย์กลับไปเป็นระยะเวลา 1-2 เดือน ก่อนจะพิจารณานำขายทอดตลาด ซึ่งกระบวนการบริหารจัดการหนี้เราทำเองทั้งหมด และเรายังมีความคิดว่าไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า เราจะเริ่มซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพราะสำหรับเรา เรามั่นใจว่ามีความชำนาณในการบริหารจัดการหนี้ และทรัพย์จากประสบการณ์ตรงที่เราทำอยู่”
ตั้งเป้าปี 57 รายได้รวมโต 30%
SAWAD ตั้งเป้ารายได้รวมทั้งปี 2557 โต 20-30% จากสิ้นปี 2556 ที่ 1,937 ล้านบาท และใน 5 ปีข้างหน้าพอร์ตสินเชื่อจะขยับแตะ 1 หมื่นล้านบาท โดยมีแผนขยายสาขาอีก 100 สาขาให้กระจายเข้าสู่แหล่งชุมชน ส่งผลให้มีสาขารวมทั้งหมด 702 แห่งจากสิ้นปี 2556 ที่มี 602 สาขา และคาดว่าปีนี้จะรักษาอัตรากำไรสุทธิ (Net margin) ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 31% ดังนั้น กำไรสุทธิน่าจะโตตามการโตของพอร์ตสินเชื่อที่ประมาณ 20-30% จากปี 2556 ที่มีกำไรสุทธิ 603 ล้านบาท
เล็งเข้าเทรดตลาดหุ้นต้น พ.ค.
สำหรับสภาพคล่องของบริษัทยังมีในระดับหนึ่ง แบ่งเป็นการกู้เงินจากธนาคาร 4,500 ล้านบาท การออกตั๋วเงิน B/E 2,000 ล้านบาท และขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอการอนุมัติไฟลิ่งจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คาดว่าจะขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) จำนวน 250 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ปลายเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคม และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม โดยมีบริษัทเอเซีย พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วคาดอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) จะอยู่ที่ 1 เท่า จากปัจจุบัน 4.5 เท่า
โดยในปี 2556 ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ อยู่ในระดับที่ดี สามารถขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง มีสาขาเพิ่มเป็น 602 สาขา ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จาก 348 สาขาในปี 2555 ทำให้ความสามารถในการขยายสินเชื่อในปี 2556 เท่ากับ 5,722 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 44% จาก 3,981 ล้านบาท ในปี 2555 ในด้านผลประกอบการก็มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวมเท่ากับ 1,937 ล้านบาท ในปี 2556 เติบโตเพิ่มขึ้น 48% จาก 1,306 ล้านบาท ในปี 2555 เนื่องจากรายได้หลักที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกประเภท ทั้งรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืม รายได้ดอกเบี้ยจากสัญญาเช่าซื้อ และรายได้อื่นๆ และมีกำไรสุทธิ 603 ล้านบาท ในปี 2556 เพิ่มขึ้น 85% จาก 326 ล้านบาท ในปี 2555 คิดเป็น อัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวม (Net Profit Margin) เติบโตขึ้นเป็น 31% จาก 25% ในปี 2555
ด้านฐานะการเงิน ณ สิ้นปี 2556 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 5,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 4,426 ล้านบาท ในปี 2555 อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) อยู่ที่ 12% อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE) อยู่ที่ 75% เป็นผลมาจากการขยายสาขา และการขยายสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ประกอบกับความสามารถในการบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับ ร้อยละ 3.7 ในขณะที่มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญคิดเป็นร้อยละ 4.1
ทั้งนี้ คงต้องติดตามดูว่าจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เพิ่มอุณหภูมิเช่นนี้ SAWAD จะเดินหน้าเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ตามกำหนดการเดิมหรือไม่? และศักยภาพการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 จะได้รับการยอมรับจากนักลงทุน จนมีผลต่อการราคาหุ้นบนกระดานมากน้อยแค่ไหน