นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 89 ณ ธนาคารโลก กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 10-12 เมษายน 2557 ว่า ธนาคารโลก แสดงความเป็นห่วงกรณีที่เศรษฐกิจของไทยปัจจุบันมีการชะลอตัว จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในไทยที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 56 กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ เห็นได้จากข้อมูลทางเศรษฐกิจทุกตัวชะลอตัวหมด โดยเฉพาะการบริโภคเอกชนที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่กลับมาหดตัวถึง 2.4% ในรอบ 2 เดือน ที่สำคัญหากรัฐบาลจัดตั้งได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ จะทำให้เศรษฐกิจในปีม้านี้ยิ่งเตี้ยต่ำลงไปมากกว่า 2.6% เข้าไปอีก เนื่องจากไม่มีรัฐบาลเข้ามาบริหารการใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐ ทำให้มีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิมหวังปีหน้าเข้าสู่สภาวะปกติ
โดยนายกิตติรัตน์ ได้กล่าวชี้แจงในการประชุมระดับทวิภาคีว่า ประเทศไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจ และฐานะการคลังที่อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วอยู่ที่ 2.11% อัตราการว่างงานอยู่ประมาณ 0.7-0.8% และเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทย วันที่ 4 เม.ย. อยู่ที่ 168.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากวันที่ 28 มี.ค.57 ที่ 167.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูง หนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับต่ำ จึงเชื่อว่าหากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวกลับได้โดยเร็ว จึงขอให้นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่น และเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในวันที่ 12 เมษายน 2557 รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่เป็นผู้แทนกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 89 ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม ฟิจิ อินโดนีเซีย สปป.ลาว พม่า มาเลเชีย เนปาล สิงคโปร์ ตองกา เวียดนาม และไทย กล่าวสุนทรพจน์สนับสนุนนโยบายด้านการพัฒนาของธนาคารโลก เช่น การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก การส่งเสริมด้านการเงินในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน การผลักดันนโยบายบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ