เอเอฟพี – ชายชาวเกาะคนหนึ่ง ซึ่งบ้านเกิดของเขากำลังจะเผชิญภัยจากน้ำทะเลหนุนสูง และยื่นอุทธรณ์เพื่อขอเป็นผู้ลี้ภัย “โลกร้อน” คนแรกของโลก ได้แพ้คดีแล้ววันนี้ (26 พ.ย.) โดยผู้พิพากษาศาลนิวซีแลนด์ยกฟ้องคดีของเขาแพราะยัง “ไม่มีความชัดเจน ถึงขนาดทำให้เชื่อถือได้”
บรรดาทนายความของเอียวอาเน เตเตียวตา วัย 37 โต้แย้งว่า นิวซีแลนด์ไม่ควรผลักดันเขากลับประเทศ แม้ว่าวีซาของเขาจะหมดอายุแล้วก็ตาม เพราะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศกำลังทำลาย บ้านเกิดของเขา ซึ่งตั้งอยู่ในระดับต่ำในหมู่เกาะคิริบาสอย่างรวดเร็ว
พวกทนายความของเขาชี้ว่า ความยากลำบากที่เตเตียวตา และครอบครัวต้องเผชิญในดินแดนเล็กๆ ซึ่งประกอบไปด้วยเกาะปะการังรูปวงแหวนย่อยๆ 30 หมู่เกาะ และพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้นแห่งนี้ ย่อมหมายความว่าพวกเขาควรจะได้รับการยอมรับให้เป็นผู้ลี้ภัย
จอห์น พรีสต์ลีย์ ผู้พิพากษาศาลสูงระบุในคำพิพากษาวันนี้ (26) ว่า ยอมรับว่าคิริบาสกำลังประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เป็นต้นว่า คลื่นพายุซัดฝั่ง น้ำท่วม และน้ำจืดปนเปื้อน
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าประชากรอีกหลายล้านคนบนหมู่เกาะที่อยู่ต่ำแห่งนั้นก็กำลังตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายกัน เตเตียวตาจึงไม่มีคุณสมบัติที่เป็นผู้ลี้ภัย ตามที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้
พรีสต์ลีย์กล่าวว่า อนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่า ผู้ลี้ภัยจะต้องกลัวถูกไล่ทำร้ายหรือสังหารหากกลับไปประเทศบ้านเกิด ซึ่งสถานการณ์ของเตเตียวตาไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว
“สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของคิริบาส อาจไม่ดึงดูดใจผู้ยื่นขอเป็นผู้ลี้ภัย และเพื่อนร่วมชาติของเขา ได้เท่ากับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และโอกาสทางความก้าวหน้าในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์” เขากล่าว
“แต่สถานะของเขาก็ดูไม่ต่างไปจากชาวคิริบาสคนอื่นๆ เลย”
นอกจากนี้ ผู้พิพากษาผู้นี้ยังได้ปฏิเสธไม่รับฟังที่ทีมกฎหมายของเตเตียวตาอ้างเหตุผลว่าเขากำลังถูกสิ่งแวดล้อม “ไล่สังหาร โดยที่เขาตอบโต้ไม่ได้” เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเป็นภัยต่อเขา ที่รัฐบาลคิริบาสไม่มีอำนาจควบคุม
“การยื่นคำร้องนี้แม้จะเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นการมองโลกในแง่ดี แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีความชัดเจน ถึงขนาดทำให้เชื่อถือได้ จึงต้องตกไป” พรีสต์ลีย์ระบุ
“เมื่อมองในภาพรวม หากพวกเขาชนะ และคดีนี้ถูกนำไปปรับใช้กับเขตอำนาจศาลอื่นๆ ก็จะทำให้ประชากรหลายล้านคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจในระยะกลาง หรือผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างปัจจุบันทันด่วน หรือการทำสงคราม หรือความยากลำบากที่อาจเกิดขึ้นจริงจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ มีสิทธิได้รับการคุ้มครองภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยเช่นกัน”
เขากล่าวว่า เคยมีผู้อ้างหลักกฎหมายระหว่างประเทศคล้ายๆ กันนี้ เพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัยโลกร้อนมาแล้ว เป็นจำนวนมาก เป็นต้นว่า ชาวตองกา ฟิจิ และบังกลาเทศ แต่ไม่มีใครเลยที่ประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ คิริบาส คือ หนึ่งในบรรดารัฐหมู่เกาะ ซึ่งรวมถึง ตูวาลู โตเกเลา และมัลดีฟส์ ที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ กังวลว่าประชากรในดินแดนเหล่านี้จะต้องกลายเป็นคน “ไร้รัฐ” เพราะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ