เอเอฟพี/บีบีซี - ชาวเกาะรายหนึ่ง ยกภาวะโลกร้อนเป็นข้ออ้างในการแสวงหาลี้ภัยในนิวซีแลนด์ ระบุระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเรื่อยๆกำลังคุกคามประเทศคิริบาสของเขา ซึ่งเป็นเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก จากการเปิดเผยของทนายความในวันพฤหัสบดี(17) โดยหากคำร้องได้รับการอนุมัติ เขาก็จะกลายเป็นบุคคลแรกของโลกที่ลี้ภัยหนีปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change)
นายไมเคิล คิตต์ ทนายความเผยว่าเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ไอโอเน เทอิติโอตา วัย 37 ปี ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่คนเข้าเมืองนิวซีแลนด์ที่ปฏิเสธมอบสถานะผู้ลี้ภัยแก่เขาและเนรเทศกลับไปยังเกาะคิริบาส
ทนายความรายนี้ยอมรับวีซานิวซีแลนด์ของนาย เทอิติโอตา หมดอายุไปแล้ว แต่ก็แย้งว่าไม่ควรถูกเนรเทศสืบเนื่องจากความยุ่งยากต่างๆนานาที่ลูกความต้องเผชิญในคิริบาส ซึ่งประกอบด้วยหมู่เกาะปะการังมากกว่า 30 แห่งและส่วนใหญ่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลแค่ไม่กี่เมตร
นายคิตต์ อ้างอีกว่าระดับน้ำที่สูงขึ้นเรื่อยๆได้เข้าท่วมพื้นที่บางส่วนของเกาะคิริบาสแล้ว โดยมันก่อความเสียหายแก่พืชผลต่างๆและยังปนเปื้อนในน้ำปะปาด้วย "น้ำดื่มคือพื้นฐานของสิทธิมนุษย์ รัฐบาลคิริบาสไม่สามารถหรือบางทีอาจไม่มีเจตนาที่จะรับประกันสิ่งเหล่านี้ เพราะว่ามันเกินกว่าการควบคุมของพวกเขา"
ทนายความยังบอกด้วยว่ามีความเป็นไปได้ที่คดีของนายเทอิติโอตา จะเป็นตัวกำหนดแนวทางปฏิบัติของนานาชาติในอนาคต เนื่องจากไม่ใช่แค่พลเมือง 100,000 คนของประเทศคิริบาสเท่านั้น แต่ประชากรทุกคนบนโลกล้วนแค่ถูกคุกคามจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอันเกิดจากฝีมือมนุษย์
ทั้งนี้หากการยื่นอทธรณ์ของเขาเป็นผลสำเร็จ นาย เทอิติโอตา จะเป็นผู้ลี้ภัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก(climate change)คนแรกของโลก ขณะที่ระเบียบอนุสัญญาสากลว่าด้วยการลี้ภัยที่มีอยู่ในตอนนี้ ยังไม่ครอบคลุมถึงปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ "มันเป็นสถานการณ์ที่ผันผวน ท้ายที่สุดแล้วศาลและรัฐสภาจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร"
รัฐบาลคิริบาส ได้หยิบยกถึงความเป็นไปได้ในการย้ายประชากรทั้งหมดไปหาที่อยู่ใหม่หรือสร้างหมู่เกาะขึ้นมาใหม่ หากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นอีก 1 เมตรในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ตามที่คาดหมายกันไว้ นอกจากนี้แล้วยังมีแผนซื้อที่ดิน 5,000 เอเคอร์ 12,500 ไร่ในฟิจิ เพื่อจัดตั้งฟาร์มสำหรับชาวคิริบาสโดยเฉพาะหากต้องเผชิญกับมลพิษน้ำเค็ม ที่จะส่งผลให้หมู่เกาะอดีตอาณานิคมของสราชอาณจักรแห่งนี้ไม่สามารถเพาะปลูกได้อีกต่อไป
ในการปฏิเสธคำร้องของนายเทอิติโอตาเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองโต้แย้งว่าไม่สามารถพิจารณานายเทอิติโอตาในฐานะผู้ลี้ภัยได้ เพราะว่าไม่มีใครในถิ่นเกิดขู่เข็ญเอาชีวิตเขาหากเดินทางกลับไปยังคิริบาส
แต่ทนายความโต้แย้งว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในคิริบาส มีท่าทางจะก่ออันตรายแก่นายเทอิติโอตา และยิ่งไปกว่านั้นลูกๆ 3 คนของเขาที่พำนักอยู่ในนิวซีแลนด์ ก็อาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย เนื่องจากทั้งหมดคงต้องเดินทางกลับคิริบาส หากผู้เป็นพ่อถูกเนรเทศ นอกจากนี้แล้วทนายความรายนี้ยังปิดท้ายด้วยว่าการส่งตัวนายเทอิติโอตา กลับประเทศก็เหมือนส่งชาวเกย์ไปยังดินแดนที่ต้องถูกดำเนินคดี หรือไม่ก็เหมือนกับส่งเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิด คืนสู่ประเทศซึ่งสิทธิสตรีไม่ได้รับการปกป้อง