xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯ เตรียมหั่นเป้า “จีดีพี” นัก ศศ. มอง ศก.ไทยเริ่มอ่อนแอ เสี่ยงถูกหั่นเครดิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บล.เอเซีย พลัส เตรียมปรับเป้า “จีดีพี” ปี 57 เชื่อปัญหาขัดแย้งการเมืองลากยาว คาดโตในกรอบ 2.0-2.5% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.3% ด้านนักเศรษฐศาสตร์ยอมรับเศรษฐกิจไทยเริ่มอ่อนแอ เชื่อภายในสิ้นปีนี้ไทยอาจถูกหั่นเครดิต มองปัญหาจ่ายเงินจำนำข้าวล่าช้า รัฐบางต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ชาวนา

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) ประเมินภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทย โดยมองว่าความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่งวดไตรมาส 4/56 ลากยาวต่อจนถึงปัจจุบัน และคาดว่าจะยังไม่สามารถจบลงได้ภายในครึ่งแรกของปี 2557 ตามสมมติฐานที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กำหนดไว้ ถือเป็นปัจจัยหลักที่สร้างแรงกดดันให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP Growth) ปี 2557 มีแนวโน้มต่ำกว่าประมาณการ ทำให้นักเศรษฐศาตร์สำนักต่างๆ ทยอยออกมาปรับลด GDP ปี 2557 ลง เริ่มจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดลงเหลือ 2.7% ไปตั้งแต่ต้นสัปดาห์

ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ได้ออกมาปรับลดการคาดการณ์ GDP ลงเช่นกัน โดยเหลือเพียง 2.6% จากเดิม 4% ใกล้เคียงกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ยังต่ำกว่าตัวเลขของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ยังกำหนดเป้าไว้ที่ 3.5%

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยฯ อยู่ในช่วงทบทวน GDP ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.0-2.5% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.3%

ขณะที่ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 31 แห่ง จำนวน 66 คน เรื่อง “เศรษฐกิจไทยในช่วงรัฐบาลรักษาการ” เก็บข้อมูลในระหว่างวันที่ 18-25 มี.ค.2557 ที่ผ่านมา โดยพบว่า นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 57.6 มองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเริ่มอ่อนแอแล้ว รองลงมา ร้อยละ 27.3 เห็นว่าอยู่ในภาวะที่อ่อนแอแล้ว มีเพียงร้อยละ 12.1 ที่เห็นว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งอยู่

เมื่อถามถึงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ประเด็นที่ว่า ภายในปีนี้จะถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับลดเครดิตของประเทศไทยหรือไม่ ร้อยละ 39.4 เชื่อว่าเครดิตประเทศจะอยู่ระดับเดิม รองลงมาร้อยละ 31.8 เชื่อว่าเครดิตประเทศจะถูกปรับแนวโน้มจากมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) และร้อยละ 24.2 เชื่อว่า เครดิตประเทศจะถูกปรับลดจากระดับปัจจุบัน

ด้านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 2.0 นั้น นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 68.2 เชื่อว่า การลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว คงจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 84.8 เห็นด้วยที่รัฐบาลชุดใหม่จะเดินหน้าโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยวิธีการลงทุนอื่น และร้อยละ 63.6 บอกว่าเห็นด้วย หากจะมีการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณเพื่อนำมาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

สุดท้ายเมื่อสอบถามความคิดเห็นในประเด็นที่ชาวนาไม่ได้รับเงินจำนำข้าวตามเวลาที่กำหนดนั้น รัฐบาลควรจ่ายดอกเบี้ยให้ชาวนาด้วยหรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์ ร้อยละ 75.8 เห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ชาวนาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น