“กรุงเทพโพลล์” สำรวจนักเศรษฐศาสตร์องค์กรชั้นนำ 60 แห่ง 76 คนหนุนตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบายต่างๆ ที่ใช้หาเสียง ขณะที่ 66% ไม่เห็นความรับผิดชอบของนักการเมืองที่บริหารเศรษฐกิจผิดพลาด 51% ชี้ความล้มเหลวโครงการจำนำข้าวเกิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 30 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง “การปฏิรูปการหาเสียงที่ใช้นโยบายประชานิยมสุดโต่ง” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 18-26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ผลสำรวจพบว่าการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ในรอบการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 48.3 ไม่พบเห็นการหาเสียงของพรรคการเมืองในลักษณะประชานิยมแบบสุดโต่ง รองลงมาด้วยสัดส่วนไม่ต่างกันมากคิดเป็นร้อยละ 41.7 บอกว่าพบเห็นการหาเสียงของพรรคการเมืองในลักษณะใช้นโยบายประชานิยมแบบสุดโต่ง
ส่วนหากการปฏิรูปเกิดขึ้นจริง สังคมไทยควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่มีหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบายต่างๆ ที่ใช้หาเสียงหรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 76.7 เห็นว่าควรมีคณะกรรมการที่มีหน้าที่ดังกล่าว มีเพียงร้อยละ 13.3 ที่เห็นว่าไม่ควรมี
เมื่อถามต่อว่า คณะกรรมการดังกล่าวควรมีอำนาจหน้าที่มากน้อยเพียงใด ร้อยละ 48.3 เห็นว่าควรมีหน้าที่ให้คำแนะนำความเป็นไปได้ของนโยบายที่ใช้หาเสียงอย่างเป็นทางการแก่ประชาชนเท่านั้น รองลงมาร้อยละ 40.0 เห็นว่าคณะกรรมการดังกล่าวควรสามารถระงับไม่ให้พรรคการเมืองใช้นโยบายประชานิยมสุดโต่งในการหาเสียงได้
สำหรับประเด็นการประเมินความเป็นไปได้ของนโยบายหาเสียง ส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายหาเสียงควรมีลักษณะดังนี้ 1. แหล่งที่มาของเงินทุนต้องมีความชัดเจน และตรวจสอบได้ (ร้อยละ 96.7) 2. ต้องมีความเป็นไปได้ที่จะทำได้จริงหากได้เป็นรัฐบาล (ร้อยละ 93.3) 3. ต้องไม่เสนอนโยบายที่จะทำให้ประชาชนมีนิสัยขาดความรับผิดชอบ (ร้อยละ 93.3) 4. ต้องไม่มีการแทรกแซงจนกลไกราคาไม่สามารถทำงานได้ (ร้อยละ 91.7) 5. ต้องไม่ทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้ประกอบการ (ร้อยละ 76.7) 6. รัฐบาลต้องไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าต่างๆ (ร้อยละ 65.0) และ 7. ต้องจ่ายเงินผ่านบัญชีของผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายเท่านั้น (ร้อยละ 61.7)
ด้านความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ต่อการแสดงความรับผิดชอบของนักการเมืองที่บริหารเศรษฐกิจผิดพลาดว่าในปัจจุบันนี้มีมากน้อยเพียงใด ร้อยละ 66.7 บอกว่าไม่มีเลย รองลงมาร้อยละ 31.7 บอกว่าแทบไม่มี
สุดท้ายเมื่อถามว่า ความล้มเหลวของโครงการรับจำนำข้าวมีสาเหตุสำคัญมาจากอะไร ร้อยละ 51.0 บอกว่ามาจากการทุจริต คอร์รัปชัน ขาดการตรวจสอบที่เข้มงวด โปร่งใส และเด็ดขาด ร้อยละ 29.4 บอกว่ามาจากการบริหารงานผิดพลาด การไม่มีความสามารถในการระบายข้าว คณะทำงานไม่มีความเข้าใจในโครงการ ไม่เข้าใจตลาดข้าวไทยและข้าวโลกร้อยละ 29.4 บอกว่ามาจากการตั้งราคาจำนำที่สูงกว่าราคาตลาดมาก ฝืนกลไกตลาด