ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดตลาดครึ่งเช้าวันที่ 24 มีนาคม 2557 ไปที่ 1,350.60 จุด ลดลง 9.90 จุด มูลค่าการซื้อขาย 15,080.96 ล้านบาท เปลี่ยนแปลง -0.73%
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ นักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุวันนี้ดัชนีฯ Sideways down ในกรอบ 1,350-1,369 จุด เนื่องจากปัจจัยการเมืองในประเทศกลับมาส่งผลกระทบระยะกลางอีกครั้ง ทั้งกรณีที่มีการคาดการณ์ว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จะมีมติในการชี้มูลความผิดนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการแต่งตั้งรองนายกฯ ขึ้นแทน แต่หากเกิดกระแสข่าวเลือก นายก ม.7 อาจเป็น Positive surprise นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เตรียมหารือรัฐบาลจัดเลือกตั้งใหม่ คาดภายใน มิย. หรือ สค.นี้
อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยกำลังมีความเสี่ยงที่จะหลุดโผประเทศน่าลงทุน และถูกปรับลดเครดิตเรตติ้ง เพราะการฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องรอยาวกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ประกอบกับขณะนี้ธุรกิจ SME ในภาพรวมอยู่ในภาวะชะลอตัว และขาดสภาพคล่องอย่างหนัก เนื่องจากยอดขายลดลงอย่างมากตามกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจและความกังวลจากสถานการณ์ทางการเมืองรวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) คาดแนวโน้มการเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นช่วงบ่ายว่า น่าจะยังคงแกว่งตัวในกรอบแคบระหว่าง 1,350-1,370 จุด เพื่อรอดูผลการประชุมของ กกต. ต่อการหาแนวทางการจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยคาดว่า กกต. หาแนวทางประชุมร่วมกับพรรคการเมืองทุกพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อร่วมลงเลือกตั้งทุกพรรคการเมือง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2549 แต่ภาพรวมคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการเจรจาต่อรองอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น ยังคงแนะนำให้ขายทำกำไร และถือเงินสดต่อเนื่องจากปลายสัปดาห์นี้
ด้านบทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ดัชนีหุ้นไทยยังคงได้รับความกดดันจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. เป็นโมฆะ ส่งผลให้อาจไม่ได้รัฐบาลใหม่ภายในครึ่งปีแรกของปี 57 และมีความเสี่ยงค่อนข้างมากที่อาจนำไปสู่การปรับลดประมาณการ GDP และผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนปี 57 ได้ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศยังคงเป็นสิ่งที่น่ากังวล เช่น ปัญหาในยูเครน ที่ส่อเค้าความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างรัสเซีย กับสหรัฐฯ และชาติยุโรปที่มีความเสี่ยงที่จะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมากขึ้น และอาจกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้
สำหรับ 5 อันดับหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด ได้แก่
ADVANC มูลค่าซื้อขาย 1,651,767 ล้านบาท ราคาปิดที่ 225.00 บาท ปรับลง 1.00 บาท เปลี่ยนแปล -0.44%
JAS มูลค่าซื้อขาย 1,651,481 ล้านบาท ราคาปิดที่ 7.90 บาท ปรับลง 0.50 บาท เปลี่ยนแปลง -5.95%
KBANK มูลค่าซื้อขาย 870,848 ล้านบาท ราคาปิดที่ 170.50 บาท ปรับลง 1.00 บาท เปลี่ยนแปลง -0.58%
IVL มูลค่าซื้อขาย 716,541 ล้านบาท ราคาปิดที่ 22.70 บาท ปรับลง 0.20บาท เปลี่ยนแปลง -0.87%
TRUE มูลค่าซื้อขาย 619,141ล้านบาท ราคาปิดที่ 6.75 บาท ปรับลง 0.15 บาท เปลี่ยนแปลง -2.17%