เมื่อทองคำซื้อขายเป็นดอลลาร์ ราคาขึ้น-ลงย่อมผูกติดกับสหรัฐฯ
สัญญา หาญพัฒนกิจพานิช
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจหลักทรัพย์กลาง บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด
จากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำในปี 2556 ทำให้ในช่วงปลายปีดังกล่าว มีการคาดการณ์ว่า ราคาทองคำเริ่มเข้าสู่แนวโน้มขาลง หลังจากปรับตัวขึ้นมานาน 2-3 ปี มีการคาดการณ์ว่าในปี2557 ราคาทองคำอาจปรับตัวลดลงเหลือ 1,100 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรืออาจได้เห็นในราคาบาทไทยประมาณ 16,000-18,000 บาท
แต่ในความจริงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่ผ่านเทศกาลตรุษจีน 2557 เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคาทองคำหาได้ปรับตัวลดลงตามการคาดการณ์ของหลายฝ่าย แต่กลับปรับตัวสูงขึ้นจนกลับขึ้นแตะที่ระดับ 21,000 บาทอีกครั้ง
**ทีมงาน “ASTVผู้จัดการรายวัน”** ได้มีโอกาสสอบถาม **สัญญา หาญพัฒนกิจพานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจหลักทรัพย์กลาง บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด** ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับราคาทองคำทั้งใน และต่างประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน และแนวโน้มทิศทางราคาทองคำในระยะยาวดังนี้
“บล.โกลเบล็ก ยังมองกรอบราคาทองคำโลกเหมือนเดิมว่าปีนี้ น่าจะอยู่ประมาณ 1,100-1,420 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ คิดว่ายังไม่ปรับเป้า เพราะมองว่าทองคำที่ขึ้นมาเมื่อตอนซับไพรม์เป็นเพราะเรื่องมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน (QE) แต่ QE กำลังจะจบลงแน่ๆ แล้ว และทุกคนทราบว่ามันต้องจบ ปริมาณเงินจากสหรัฐฯ คงไม่ได้เพิ่มมากไปกว่านี้ รอเพียงแต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มดูดสภาพคล่องออก ซึ่งก็คือ เมื่อเฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นคิดว่าการจะเล่นธีมเงินเฟ้อคงยังไม่มาในระยะสั้น เว้นอยู่อย่างเดียวหากผมจะคาดผิดก็คือ ราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นมาเร็วกว่าที่ทุกคนคิด หรือเศรษฐกิจอเมริกาฟื้นตัวเร็วมากจนความต้องการในการใช้น้ำมันมีเยอะ”
อย่างไรก็ตาม บล.โกลเบล็ก ยังไม่ตัดประเด็นการปรับตัวของราคาทองคำ เพราะสาเหตุในเรื่องสินทรัพย์ปลอดภัยจากความไม่สงบทางการเมืองระหว่างรัสเซีย และยูเครนออกไป แต่เชื่อว่าเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้นที่เข้ามาผลักดันราคาทองคำมากกว่า ซึ่งนักลงทุนไม่ควรจะไปไล่ราคาซื้อตาม
“สัญญา หาญพัฒนกิจพานิช” แจกแจงปัจจัยพื้นฐานของราคาทองคำว่า ในแง่อุปสงค์ของทองคำที่แต่ก่อนนั้นจะมีอยู่ในภาคอุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่เมื่อเกิดปัญหาซับไพรม์ขึ้นมา อุปสงค์ที่เกิดเพิ่มเติมขึ้นมาคือภาคการลงทุน เช่น กองทุนทองคำขนาดใหญ่ กองทุน SPDR Gold Trust ที่เข้ามาสะสมทองคำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกองทุนอีทีเอฟทองคำทั่วโลกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
แต่พอมาหลังปี 2012-2013 พบว่า กองทุนอีทีเอฟทองคำทุกกองทุนถูกขายออกมาเกือบครึ่งหนึ่งของกองทุน ส่วนใหญ่เกิดจากนักลงทุนขายทิ้งหน่วยลงทุนทำให้กองทุนต้องขายทองคำออกมาประมาณ 40% ของพอร์ตทั้งหมด
“เราจะเห็นว่าอุปสงค์ของทองคำที่เติบโตจากซับไพรม์ตอนนี้มันหายไปแล้ว แต่รอบนี้นี้ได้อุปสงค์ทางฝั่งเครื่องประดับมาชดเชยแทน เพียงแต่ไม่ได้เยอะเท่าที่หายไปจากในภาคการลงทุน เราจึงมองว่าภาคการลงทุนหากจะสนใจจริงๆ มันคงต้องมีธีมใหม่จริงๆ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำตอนนี้ทุกคนทราบดีอยู่แล้วคือ อุปสงค์-อุปทาน เพราะฉะนั้นหากอุปสงค์ด้านเครื่องประดับมาดี ทองคำอาจจะเป็นที่ต้องการบ้าง เพียงแต่มันก็ยังไม่สามารถชดเชยฝั่งที่หายไปได้ เพราะไม่มีแรงพอที่จะขับดันให้ราคาทองคำพุ่งเป็นขาขึ้นรอบใหม่ได้ เมื่อหันมาพิจารณาในด้านภาคการลงทุนคิดว่ายังไม่ใช่ เพราะเมื่อเฟดอัดหยุดฉีดเงินแล้วไม่น่าจะมีสาเหตุทำให้เกิดธีมใหม่ที่คนจะเข้ามาซื้อขายกัน แต่อาจจะมีสั้นๆ อย่างที่เจอในกรณีปัญหารัสเซียกับยูเครน”
สหรัฐฯ ยังเป็นตัวแปรสำคัญต่อราคาทองคำ
ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวจริงแค่ไหน ส่วนตัวผมคิดว่าฟื้นจริงเมื่อดูจากตัวเลขการว่างงานใน
ตลาดแรงงานซึ่งเริ่มลดลงมาอยู่ใกล้เคียงกับระดับที่เฟดต้องการคือ 6.5% เฟดน่าจะพอรับได้แล้ว ปัจจุบันล่าสุดอยู่ที่ระดับ 6.7% เมื่อต้นเดือนมีนาคม โอบามาแถลงการณ์คาดการณ์ว่า เฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 6.9% เทียบจากปีที่แล้วอยู่ที่ 7.4% ส่วนตัวคิดว่าน่าจะต่ำกว่าด้วยซ้ำ และทางสหรัฐฯ ก็กล้าฟันธงว่าปีนี้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วสุดนับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา เพราะรัฐบาลกำลังของบประมาณเพื่อกระตุ้นตลาดแรงงานรอบใหญ่
เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้จริง ผมคิดว่าแรงซื้อ หรือการไหลของเงินทุนควรจะไหลไปยังสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าซึ่งมันไม่ใช่ทองคำแน่ๆ เพราะทองคำคนถือแล้วไม่ได้อะไรเลยนอกจากถือครองเพื่อการชมเชย แต่การไปถือพันธบัตร ไปถือตัวเงินดอลลาร์ฯ หรือไปถือพวกหุ้นยังได้เงินปันผล ยังได้อะไรหลายๆ อย่างยังมีการเจริญเติบโตที่ดี
“เราเลยมองธีมว่าใน 1-2 ปีนี้ทองคำไม่ใช่ขาขึ้นใหญ่ ทุกครั้งที่เฟดมีประชุมทุกคนก็ยังต้องมานั่งลุ้นอยู่ดีว่าหากเศรษฐกิจดีจริงหรือไม่ เฟดจะลดขนาด OE ลงเร็วกว่าที่ทุกคนคาดหมายหรือเปล่า ตอนนี้ทุกคนคาดว่าแต่ละครั้งเฟดจะลด 10,000 ล้านเหรียญฯ แต่หากเศรษฐกิจดีจริงก็เป็นไปได้ว่าเฟดจะลดมากกว่าเดิม และถ้าจะลดครั้งละ 10,000-15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การประชุมในเดือนตุลาคมก็น่าจะหมดแล้ว และตอนนั้นความกังวลในเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดก็จะเกิดขึ้นตามมาอีกรอบหนึ่ง และจะเป็นตัวกดดันราคาทองคำรอบใหญ่ เพราะหากผู้กู้ยืมเห็นแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะกลับมาเป็นขาขึ้น ก็จะรีบขนเงินกลับไปคืนแบงก์ เงินที่เคยอยู่ในสินทรัพย์ต่างๆ ต้องไหลออก โดยเฉพาะสินทรัพย์อย่างทองคำที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนอะไรเลย มองภาพใหญ่ๆ ก็เลยยังเป็นอย่างนี้อยู่”
ภาวะเศรษฐกิจยุโรปมีผลต่อราคาทองคำหรือไม่
ในด้านทวีปยุโรป มองว่ายังฟื้นตามสหรัฐฯ มาเพราะเมื่อสหรัฐฯ ฟื้นจริง สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีกำลังบริโภคเยอะอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทางฝั่งยุโรปก็จะเหมือนกันคือ แบบพอพี่มาน้องๆ ก็จะเริ่มดีขึ้น แต่แน่นอนว่าเรื่องเงินฝืดของยุโรปก็ยังต้องติดตาม และส่วนตัวผมเองคิดว่าทางอเมริกาน่าจะฟื้นจริง แต่หากไปเจออะไรที่ทำให้ต้องสะดุด ไม่ต้องจากฝั่งยุโรป แม้กระทั่งจากฝั่งเอเชียอย่างจีน หรืออินเดีย เช่นตัวเลขที่ออกมามันชักเริ่มจะไม่ดี แม้กระทั่งในบ้านเราเองก็เริ่มออกมาชักจะเริ่มหนาวแล้ว พวกนี้จะเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกแทนที่จะฟื้นโดยพี่ใหญ่ก็อาจจะสะดุดก็ได้เหมือนกัน แต่ผมมองว่าในด้านทองคำแล้วเราซื้อขายในรูปแบบดอลลาร์สหรัฐ เพราะฉะนั้นอะไรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสกุลเงินดอลลาร์ก่อนคงจะเป็นสหรัฐฯ เพราะตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ มันส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์โดยตรง ขณะที่ fund flow จะเกี่ยวข้องทางอ้อม ผมจึงให้น้ำหนักกับสหรัฐฯ เป็นหลัก รองลงมาคือ กลุ่มประเทศใหญ่ๆ ทางยูโร และกลุ่มประเทศ BRIC เก่าอย่างอินเดีย จีน
ราคาทองไทยกับการปรับตัวของราคาทองคำในตลาดโลก
ยังคิดว่าโดยส่วนใหญ่แล้วยังล้อไปตามราคาทองคำโลกเพราะว่าด้วยวิธีการแปลงจากราคาทองคำโลกมาบ้านเรา ราคาทองคำโลกมันเป็นหลักพัน แต่อัตราแลกเปลี่ยนมันหลักสิบ เพราะฉะนั้นตัวส่งผลกระทบหลังจากเมื่อคูณมาแล้วมันจะไม่เยอะมาก แต่แน่นอนว่าการแข็งค่า หรืออ่อนค่าของเงินบาทยังส่งผลกระทบบ้าง จึงยังมองว่าบ้านเราก่อนหน้านี้เจอปัญหาการเมืองมาระดับหนึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติมีการขายสินทรัพย์ในเมืองไทย และโยกเงินออก แต่ตอนนี้อารมณ์ของตลาดมันเริ่มดีแล้วจึงจะเห็นว่าเงินบาทแข็งค่อนข้างเร็ว 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา แข็งมาประมาณ 70 สต. เลยมองว่าถ้าเทียบเงินบาทกับเทียบตลาดหุ้นรอบบ้านเราอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่มีอะไรคล้ายๆ กันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ของพวกเขาเงินไหลออกน้อยกว่า ค่าเงินในประเทศก็อ่อนค่าน้อยกว่า เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วเงินบาทของเราน่าจะแข็งค่ากว่าตอนนี้ เลยทำให้ยังมองว่าในระยะ 2-3 เดือนนี้ยังจะแข็งค่าอีกถ้าการเมืองไม่มีอะไรสะดุดอีก
ถ้าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นอีก
เมื่อปลายปีค่าบาทมันอ่อนลงมาจริงๆ เพราะคนคาดว่ามันจะมีเงินไหลกลับจากตลาดเกิดใหม่ไม่ใช่แค่ที่เมืองไทยอย่างเดียว แต่ในมุมมองส่วนตัวคือ ตลาดหุ้นตั้งแต่ปี 2009 ที่มีฝรั่งไล่ซื้อเข้ามาประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท หลังจากปีที่แล้วเขาขายเรียกว่าจนเกลี้ยงเลยดีกว่า เพราะที่เหลืออยู่ในตลาดตอนนี้มันเป็นทุนเก่ากับกำไร เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่ามันน่าจะเป็นการปรับพอร์ตทางฝั่งตลาดเกิดใหม่เรียบร้อยแล้ว และน่าจะเริ่มมีนักลงทุนต่างชาติกลุ่มใหม่ๆ มองว่าค่าพีอีเราเริ่มลดลงไปมากแล้ว ก็น่าจะมีเข้ามาเลือกซื้อหุ้นบางตัวบ้าง เลยมองว่าต่อจากนี้ตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะลงแรงถึงแม้การเมืองจะยังยืดเยื้อ มันอาจจะเป็นแค่ขั้นซึมๆ แต่ไม่ถึงขั้นโดนทุบเหมือนสมัยซับไพรม์ สมัยไข้หวัดนก หรือสมัยต้มยำกุ้ง
“ในตลาดเกิดใหม่ผมไม่ค่อยห่วง ห่วงปัญหาภายในประเทศอย่างเดียว อย่างเช่นพวกการเมือง แต่ก็ไม่น่าห่วงเท่าปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างสมัยต้มยำกุ้ง หรือปัญหาอะไรบางอย่างที่จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทเยอะๆ ซึ่งมันน่าจะมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เช่น เรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุน หรือหากเกิดปัญหาทางยุโรป ทางอเมริกา หรือทางจีนจริงๆ ทุกคนก็พร้อมที่จะโยกกลับเข้าไปในพวกพันธบัตรของสกุลเงินที่ปลอดภัยซึ่งอาจจะเป็นสกุลเงินเยน เป็นสกุลเงินดอลลาร์ หรือแม้กระทั่งทองคำเอง”