“คลัง” ปาดเหงื่อจัดเก็บรายได้ปี 57 ส่อหลุดเป้า 5 หมื่นล้าน ขณะที่ 3 กรมภาษี ครวญปัญหาการเมืองยืดเยื้อ-ไร้แววรัฐบาลใหม่ อาจกระทบเศรษฐกิจย่ำแย่หนัก คนเบรกการใช้จ่าย การลงทุนชะลอตัว “สศค.” แนะปรับประสิทธิภาพการจัดเก็บ แต่ไม่ใช่การไปไล่บี้เอกชน ควรต้องไปดูว่าธุรกิจใดที่ยังเสียภาษีไม่เต็มที่ และจุดบอดการจัดเก็บอยู่ตรงไหน
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ได้กำชับให้กระทรวงการคลังดูแลเรื่องการเก็บรายได้รัฐบาลที่อาจต่ำกว่าเป้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเบิกจ่ายจนทำให้มีปัญหากับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งการเก็บรายได้รัฐบาลล่าสุด เดือน ก.พ.2557 เดือนที่ 5 ของปีงบประมาณ 2557 ต่ำกว่าเป้าหมายทั้ง 3 กรม คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เพราะปัญหาการเมืองที่มีผลกระทบเศรษฐกิจ จนทำให้คนไม่ใช้จ่าย การลงทุนชะลอ การท่องเที่ยวหดตัว และสถานที่ราชการถูกปิดต่อเนื่อง ส่งผลให้การทำงานไม่สะดวก
ทั้งนี้ หากปัญหาการเมืองจบได้ภายในเดือนนี้ ยังมีเวลาเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2557 อีก 6 เดือน ซึ่งยังพอเร่งให้การเก็บรายได้ได้ตามเป้า แต่หากยืดเยื้อไปถึงกลางปี หรือเลยกว่านั้น จะทำให้การเก็บรายได้ทั้งปีต่ำกว่าเป้า และยังมีปัญหาไปถึงการทำงบประมาณปี 2558 ที่ล่าช้า ทำให้งบลงทุนไม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การเก็บรายได้จะมีปัญหาเพิ่มขึ้น
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว และยังไม่สามารจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ คาดว่าจะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบ 2557 มีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 2.275 ล้านล้านบาท
“หากปีนี้จะเป็นปีแรกที่การจัดเก็บรายได้ไม่ถึงเป้าหมาย อาจจะหายไป 5 หมื่นล้านบาทถือเป็นอะไรที่ยอมรับได้ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจ และการเมืองไม่ปกติ เป็นการยากที่จะจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย แม้ว่าการจัดเก็บรายได้ลดลงจากเป้าหมายไม่กระทบการใช้จ่ายของรัฐ เนื่องจากรัฐยังมีเงินคงคลังเหลืออยู่กว่า 3 แสนล้านบาท”
สำหรับสิ่งที่ทำได้ในช่วงนี้คือ ต้องปรับประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมภาษี ทั้งสรรพสามิต ศุลกากร สรรพากรให้มากขึ้น ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ใช่การไปไล่บี้เก็บภาษี แต่ต้องไปดูว่าธุรกิจใดที่ยังเสียภาษีไม่เต็มที่ จุดบอดการจัดเก็บอยู่ตรงไหน ขณะที่การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจเข้าคลังในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ดีมาก และเป็นส่วนหนึ่งทำให้ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ไม่ต่ำมากนัก
นอกจากนี้ สศค.ยังอยู่ระหว่างการผลักดันแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้เสนอให้มีการจัดตั้งบริษัทสินเชื่อรายย่อย (บย.) แต่เมื่อมีการยุบสภาไป จึงต้องรอเสนอ รมว.การคลังคนใหม่ และรัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาแทน
นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบประจำจังหวัด โดยจะมีการเชิญตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดมาเป็นหัวหน้าทีมในการไกล่เกลี่ยปัญหาดังกล่าวด้วย รวมถึงนำองค์กรการเงินชุมชนที่มีอยู่กว่า 7 หมื่นหมู่บ้าน รวมดึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาร่วมอย่างจริงจังด้วย