xs
xsm
sm
md
lg

เผยดัชนี ศก.ครัวเรือนตกต่ำ ชี้คนห่วงสินค้าแพง-หนี้สุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลจัดทำดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนเดือน ก.พ.อยูที่ 44.6 และคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าที่ 47.9 ระบุประชาชมองภาวะการครอบชีพแย่ลง ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น จากความกังวลราคาสินค้าแพงขึ้นสวนเศรษฐกิจซบ ภาระหนี้ครัวเรือนยังรุมเร้า และซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การเมือง

จากการที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจัดทำดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR - ECI) ขึ้น เพื่อให้เป็นเครื่องชี้สำหรับการติดตามภาวะการครองชีพของภาคครัวเรือนในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยได้เริ่มเผยแพร่ตั้งแต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เป็นต้นไปนั้นพบว่า อยู่ที่ระดับ 44.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งสะท้อนว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า ภาวะการครองชีพแย่ลง ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 47.9 ซึ่งสะท้อนว่า แนวโน้มยังคงไม่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ประเด็นที่ภาคครัวเรือนมีความกังวลค่อนข้างมากคือ เรื่องทิศทางราคาสินค้า และภาระค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนที่เป็นการชำระหนี้ และรายจ่ายในส่วนอื่นๆ ซึ่งก็เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าผู้บริโภค และระดับหนี้ครัวเรือนตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สวนทางกับสถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

ดังนั้น ต้องจับตาราคาสินค้าในหมวดอาหาร พลังงาน และสาธารณูปโภค ที่ยังอาจปรับสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า โดยเฉพาะราคาอาหารสด เนื่องจากบางส่วนอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณผลผลิตที่ลดลงตามสภาพภูมิอากาศที่ร้อนแล้ง รวมถึงราคาพลังงาน ทั้งในส่วนของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ และราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในช่วงทยอยปรับราคาขึ้นตามแผนปรับโครงสร้างราคา รวมถึงราคาสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า Ft ที่อาจมีการปรับขึ้นอีกครั้งในรอบบิลถัดๆ ไป

สินค้าในกลุ่มดังกล่าวข้างต้นนับเป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักความสำคัญต่อ “ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน” ของประชาชนทั่วไป ซึ่งหากมีการขยับราคาขึ้นก็อาจส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีมุมมองที่แย่ลงต่อภาวะการครองชีพ โดยเฉพาะผู้บริโภคในกลุ่มที่มีรายได้คงที่ หรือรายได้ปรับเปลี่ยนอย่างผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ

โดยความกังวลต่อทิศทางราคาสินค้าที่สะท้อนจากดัชนีองค์ประกอบของ KR-ECI ก็มีความสอดคล้องกับรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคล่าสุดในเดือน ก.พ.2557 ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ยังคงปรับตัวขึ้นอีกร้อยละ 0.23 (MoM) จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการไล่ระดับขึ้นของราคาสินค้าในภาพรวมอย่างต่อเนื่องตลอดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างเดือน ก.ย. 2556-ก.พ.2557

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า นอกจากภาระค่าใช้จ่าย และทิศทางราคาสินค้าจะมีผลกระทบต่อมุมมองภาวะการครองชีพของประชาชนแล้ว คงต้องยอมรับว่า ยิ่งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเผชิญกับเงื่อนไขทางการเมืองที่ฉุดรั้งเส้นทางการฟื้นตัวมากขึ้น ความกังวลต่อรายได้และการมีงานทำก็อาจพลิกกลับมาเป็นอีกกลุ่มตัวแปรที่ทำให้ความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนต้องใช้เวลานานมากขึ้นในการฟื้นตัวกลับสู่ภาวะที่เป็นปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น