แบงก์ประสานเสียงการเมืองปัจจัยเสี่ยงหลักเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รอดูท่าทีอีก 1-2 เดือน ก่อนทบทวนประมาณการ ระบุเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญต้องติดตาม พร้อมจับตากรณียูเครน ห่วงดันราคาพลังงานขึ้นกระทบเงินเฟ้อ คาด กนง.คง ดบ. ด้าน EIC SCB ประเมินจีดีพีโต 2.4% เก็ง กนง.กด ดบ. 2 รอบรวด
นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยไว้ที่ระดับ 3% จากกรอบประมาณการ 2.2-3.7% เพื่อรอความชัดเจนทางการเมืองอีก 1-2 เดือนข้างหน้าซึ่งจะมีหลายเหตุการณ์สำคัญที่ต้องติตตาม เช่น กำหนดเวลาเรียกประชุมรัฐสภาฯ เป็นครั้งแรก รวมถึงคดีต่างๆ ที่อยู่ในขั้นตอนของ ป.ป.ช.กรณีทุจริตจำนำข้าว ศาลรัฐธรรมนูญกรณีร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เป็นต้น
“ปัจจัยการเมืองยังคงเป็นความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ และในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าอาจจะมีเหตุการณ์ต่างๆ พลิกผันได้ ซึ่งหากเป็นไปในทางบวกสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในครึ่งปีแรกเราก็คงไม่ต้องปรับประมาณการ แต่ถ้ายืดเยื้อไปถึงครึ่งปีหลังก็ต้องมีการทบทวนกันชุดใหญ่จีดีพีอาจจะโตใกล้เคียงกับระดับกรอบล่างที่ 2% และหากเป็นกรณีเลวร้ายที่มีเหตุรุนแรง หรือปะทะกันจีดีพีก็อาจจะโตแค่ 0.5%”
นางพิมลวรรณ กล่าวอีกว่า เรายังมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย โดยในไตรมาสแรกของปีจีดีพีน่าจะติดลบเกือบ 2% แต่ไตรมาส 2 คาดว่าจะบวกได้เล็กน้อยจากการภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่โดยรวมแล้วในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะยังซบเซา แต่ในครึ่งปีหลังจะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการเมือง ซึ่งหากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่ทันครึ่งปีแรกก็จะส่งผลต่อการพิจารณางบประมาณปี 2558
สำหรับปัจจัยต่างประเทศนั้น ก็มีความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตาเช่นกัน ทั้งกรณีการลด QE ของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เงินทุนผันผวน โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และกรณีปัญหาการเมืองของยูเครนที่่ยกระดับจากเรื่องภายในมาเป็นเรื่องของภูมิภาค หลังทางรัสเซียส่งทหารเข้าไป ทำให้ทางฝั่งยุโรปต้องเตรียมพร้อมรับมือ เนื่องจากยูเครนเป็น 1 ในประเทศส่งออกก๊าซ และน้ำมันรายใหญ่ของโลก หากเกิดปัญหาขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อด้วย ซึ่งทั้ง 2 กรณีอาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่อ่อนไหวจากปัจจัยในประเทศอยู่แล้ว
**คาด กนง.คงดอกเบี้ย**
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงในช่วงไตรมาสแรก แต่คาดว่าในการประชุมคณะนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 12 มี.ค.นี้ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% เพื่อรอดูความชัดเจนในอีกระยะหนึ่ง ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการดูแลด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจากอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ในระดับ 2.4% อาจทำให้ช่องว่างในการผ่อนนโยบายการเงินจำกัดกว่าเดิม นอกจากนี้ การปรับลดดอกเบี้ยขณะนี้ก็คงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มาก คงเป็นการบรรเทาภาระการผ่อนจ่ายหนี้สินมากกว่า
“แนวโน้มเงินเฟ้อที่มีโอกาสจะเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงาน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นหากปัญหายูเครนกลายเป็นเรื่องระหว่างภูมิภาค และมีความรุนแรงขึ้น โดยคาดการณ์กันไว้ว่าหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าว ราคาน้ำมันจะปรับขึ้น 4-5% ซึ่งตรงนี้อาจทำให้ กนง.ตัดสินใจรอดูสถานการณ์ต่างๆ ออกไปก่อน”
EIC SCB คาดจีดีพีโต 2.4%
ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี)ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2014 มีศักยภาพขยายตัวได้ราว 2.4% โดยความไม่สงบทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นความเสี่ยงสำคัญ จากการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนในปี 2014 จะขยายตัวได้ราว 0.8% เท่านั้น จะเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจที่พึ่งพาอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก ขณะที่การลงทุน ธุรกิจส่วนใหญ่มีแนวโน้มชะลอการลงทุนไปจนกว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยการลงทุนในปีนี้จะเติบโตได้ราว 2.2% ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตในอดีต
อย่างไรก็ตาม ไทยไม่น่าจะเผชิญภาวะเงินทุนไหลออกอย่างรุนแรงเหมือนประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) อื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย และตุรกี เนื่องจากพื้นฐานของไทยยังคงแข็งแกร่งอยู่ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 2.2% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำราว 1.3% จากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ทั้งนี้ การประเมินเงินเฟ้อมีสมมุติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ราว 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ด้วยความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินในระดับต่ำ กนง.สามารถลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาคเอกชนในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังอ่อนแอ ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงนี้ไม่น่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด และไปกระตุ้นให้ภาคครัวเรือนมีการก่อหนี้เพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อีไอซี ประเมินว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมในเดือนมีนาคม และอีกครั้งภายในครึ่งปีแรก โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 1.75% ในปี 2014