ผ่าประเด็นร้อน
การประกาศของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ระบุเป็นมติเอกฉันท์ให้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีการกระทำทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เข้าข่ายความผิดต่อหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือเปิดทางให้เกิดการทุจริต สารพัด ทั้งที่มีการเตือนกันหลายรูปแบบหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช.เองที่เคยส่งหนังสือทักท้วงไปถึงเธอให้ระงับโครงการ, ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจนำข้อมูลหลักฐานทุจริตทุกขั้นตอนมาแสดงให้เห็นและยังยื่นถอดถอนไปแล้ว, คณะกรรมการปิดบัญชีของกระทรวงการคลัง แถลงผลการดำเนินการจากโครงการจำนำข้าวกว่าแสนล้านบาท รวมไปถึงคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เตือนในเรื่องเดียวกัน
แต่ผลที่กลับมาคือ ไม่สนใจ ไม่นำพา เพราะในตอนนั้นคงทะนงถือดีว่า “มีอำนาจล้นมือ” ทั้งสภาสูงและสภาผู้แทนราษฎรล้วนเป็น “ขี้ข้า” ทั้งสิ้น ยังไม่นับรวมพวกตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ล้วนแล้วแต่ส่งคนของตัวเองเข้าไปควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว
นี่ยังไม่รวมถึงการบริหารในกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ที่มีลักษณะไม่ต่างจากบริษัทในเครือของ “ครอบครัวชินวัตร” ทุกอย่างจึงเป็นที่มาของความเหิมเกริมไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น
แม้กระนั้นก่อนหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะแถลงมติ ป.ป.ช.เพียงไม่กี่ชั่วโมง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังแถลงแบบหน้าชื่นตาบานยืนยันว่าจะเดินโครงการรับจำนำข้าวต่อไป พร้อมทั้งอ้างว่าโครงการดังกล่าวทำให้ชาวนาลืมตาอ้าปาก สร้างฐานะอยู่ดีกินดี แต่ที่มาสะดุดมีปัญหาถูกขัดขวางจากการชุมนุมของ กปปส.ที่นำโดย กำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ
อย่างไรก็ดี เรื่องคำแถลงของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ดังกล่าว กำลังส่งผลต่อคดีใหม่ที่จะมีผลกระทบต่ออนาคตทางการเมืองอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญในอีกไม่นานนี้ ซึ่งจะแยกออกมาพิจารณากล่าวถึงในตอนท้าย
สำหรับกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตจำนำข้าวต่อเธอ โดยเรียกมารับทราบข้อหาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ซึ่งแม้ว่าเป็นเพียงการตั้งข้อหายังไม่ใช่ขั้นตอนการ “ชี้มูลความผิด” เนื่องจากต้องให้โอกาสในการชี้แจง แก้ตัวให้ครบถ้วนเสียก่อน แต่จากการแถลงยืนยันของ วิชา มหาคุณ หนึ่งกรรมการ ป.ป.ช.ที่ดูแลคดีนี้มาตั้งแต่ต้นก็บอกว่าจะสามารถชี้มูลความผิดได้หรือไม่ภายใน “เดือนมีนาคม” นั่นก็หมายความว่าแค่เดือนหน้าเท่านั้น
ที่น่าสังเกตจนน่าระทึกใจก็คือ มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการแจ้งข้อกล่าวหากับ ยิ่งลักษณ์นั้นเป็น “มติเป็นเอกฉันท์” ครับพี่น้อง และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือยังเป็นผลมาจากการไต่สวนแบบเต็มคณะใหญ่ของ ป.ป.ช.ไม่ใช่ในแบบคณะอนุกรรมการแบบหลายคดีก่อนหน้านี้ แม้ว่าจะดูเหมือนการเดาสุ่ม แต่มันก็ได้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนแล้วไม่ใช่หรือว่าผลจะออกมาอย่างไร และต่องไม่ลืมว่าในความเป็นจริงแล้ว โครงการรับจำนำข้าวใครๆ ก็รู้ว่า “มันโกงทุกขั้นตอน” รู้กันทั้งบ้านทั้งเมือง ผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการ พ่อค้าข้าวก็ยืนยันตรงกัน หรือแม้แต่ สตง.ฝ่ายค้าน รวมไปถึง ป.ป.ช.เองก็เคยส่งหนังสือเตือนไปแล้วไม่ใช่หรือ ถ้าผลสรุปออกมาว่า “ไม่โกงนี่สิแปลก” และก่อนหน้านี้ก็ได้แจ้งข้อหาทุจริตไปชุดหนึ่งแล้ว มีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บุญทรง เตริยาภิรมย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภูมิ สาระผล รวมทั้งข้าราชการและเอกชนอีกจำนวนหนึ่งรวม 15 รายไปแล้ว
เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบและสถานการณ์กดดันจากสังคมที่บีบรัดเข้ามาจนแน่นแบบนี้ทำให้คาดการณ์ได้ไม่ยากว่างานนี้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “ต้องโดนแน่” โดนชี้มูลความผิดแน่ ไม่มีทางรอด ทีนี้เมื่อผิดแล้วไปไหน ก็มีสองทาง ก่อนอื่นทันทีก็ต้อง “หยุดปฏิบัติหน้าที่” จากนั้นก็นำไปสู่การถอดถอนโดยวุฒิสภา ซึ่งอาจะไม่ค่อยมีทางได้ผล เพราะเป็นผลต่อเนื่องมาจากเรื่องชุลมุลจากการเลือกตั้งทั้งสภาผู้แทนฯรวมไปถึงต่อเนื่องถึงการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเฉพาะมาจากการเลือกตั้งอาจจะมีการชะงัก แต่สำหรับความผิดอาญาก็ต้องไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองชี้ขาด ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่พลาดถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมาแล้ว
และที่น่าจับตาก็คือศาลนี้ “ใช้เวลาไม่นานนัก” เสียด้วยสิ ชาวบ้านพอกัดฟันทนรอได้
นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องที่ต้องลุ้นตามมาอีก อย่างที่เกริ่นมาตั้งแต่ต้นก็คือผลจากคำ “แถลงมั่วซั่ว” ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ก่อนที่จะสั่งยิงที่สะพานผ่านฟ้าฯ เธอก็อ้างถึงความดีความชอบของโครงการรับจำนำข้าวของเธอ ทำให้ชาวนาอยู่ดีกินดี แต่ที่มีปัญหาเพราะถูกขัดขวางจากพวกที่ต้องการล้มรัฐบาล และการชุมนุมของ กปปส.ซึ่งด้วยคำพูดที่ส่อไปในทาง “หาเสียง” มีผลต่อการเลือกตั้ง แบบดังกล่าวนี่แหละ ทำให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สมชัย ศรีสุทธิยากร ระบุว่าอาจเข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเตรียมนำเข้าพิจารณาพร้อมกับกรณีที่มีการร้องเรียนก่อนหน้านี้ในเรื่องการเดินสายไปในพื้นที่ในภาคเหนือและภาคอีสานในลักษณะใช้บุคลากรรัฐ งบประมาณของรัฐเข้าข่ายหาเสียง มีเรื่องให้ลุ้นเพิ่มเติมอีก แม้ว่าเรื่องนี้อาจจะคาดหวังอะไรไม่ได้มาก แต่ก็อย่างว่าแหละคนเราเมื่อ “ขาลง” เสื่อมทรุดทุกด้านมันซวยทุกเรื่องได้อยู่แล้ว
ดังนั้น ถ้าให้สรุปในตอนนี้ชะตากรรมของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงไม่ใช่แค่ต้องพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีรักษาการ เลิกคิดเรื่องกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ แต่แนวโน้มที่ต้องเจอในอีกไม่ช้าก็คือ “คุก” จากคดีทุจริตจำนำข้าว ที่ ป.ป.ช.จะชี้มูลภายในเดือนมีนาคม!!