“ทีดีอาร์ไอ” อัดนโยบายการคลังไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แนะปฏิรูปภาษีที่ดิน แคปปิตอลเกนแท็ก และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พร้อมชี้ปมที่ทำให้เกษตรกรยังไม่พ้นวงจรความยากจน
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเสวนา “ทีดีอาร์ไอชวนคิด-ชวนคุยข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย” ครั้งที่ 2 เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการสังคม” โดยระบุว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และระบบสวัสดิการสังคมในประเทศไทยปัจจุบันยังมีอยู่ ขณะที่ภาคการคลังของรัฐบาลช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้น้อย จึงเสนอให้เดินหน้าปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยจัดทำ พ.ร.บ.สวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้าให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว พร้อมปฏิรูปภาษี เช่น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีแคปปิตอลเกนแท็ก และต้องเดินหน้ากระจายอำนาจการคลังสู่ท้องถิ่นอย่างเร่งด่วน ทั้งภาษี และกำลังคน เพื่อให้ท้องถิ่นใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสร้างทุนมนุษย์ในสัดส่วนที่มากกว่าโครงสร้างพื้นฐาน เช่น มากกว่า 50%
ด้านบริหารจัดการ ควรจัดให้มีหน่วยวิเคราะห์ผลของนโยบายรัฐบาลที่สำคัญโดยให้เป็นอิสระจากรัฐบาล ด้านการเมือง ประชาสังคม ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของรากหญ้า คนชั้นกลาง ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และสังคม และจัดใหัมีการปฏิรูประบบเลือกตั้งให้มีสัดส่วน ส.ส.ในสภาให้มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับ popular vote มากที่สุด และเสนอให้เดินหน้าปฏิรูปสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในเรื่องอำนาจหน้าที่ และการคัดเลือกสมาชิก และเร่งรัดสื่อให้ช่วยลดมายาคติเรื่องคนจน
นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปสวัสดิการสังคม เนื่องจากปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำ เช่น การรักษาพยาบาลที่มีการให้บริการรักษาพยาบาลโดยจัดตามบัตรที่ประชาชนถืออยู่ และต้องปฏิรูปโดยเดินหน้าประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานที่เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ มีการกระจายทรัพยากรด้านสุขภาพที่เป็นธรรม พร้อมปฏิรูปประกันสังคมให้หลุดจากการเป็นหน่วยงานรัฐ ให้มีกรรมการที่รับผิดชอบต่อผู้ประกันตน เป็นต้น
นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยที่เกิดขึ้นบางส่วนเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง หากไม่สกัดกั้น หรือปรับตัวจะเพิ่มขึ้นได้เอง เช่น ความเหลื่อมล้ำภาคเกษตร และภาคอื่นซึ่งเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานพอสมควร เพราะประเทศไทยมีเกษตรกรจำนวนมาก โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 25-40% ของแรงงานทั้งหมด
ขณะที่รายได้ภาคเกษตรกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ข้อมูลปี 2554 จำนวนเกษตรกรลดลงเหลือ 7.7% ของประชากร ซึ่งเป็นสัดส่วนเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ที่ไทยแตกต่างคือ ประเทศพัฒนาแล้วมีจำนวนประชากรเท่ากับร้อยละของรายได้ แต่เกษตรกรไทยกลับมีรายได้สุทธิต่ำกว่าภาคอื่นมาก ในระยะยาวหากไม่แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ ภาคเกษตรกรจะไม่สามารถเป็นแหล่งรายได้หลัก และเป็นที่พึ่งของประชาชนจำนวนมากได้อีกต่อไป และเกษตรกรจะไม่อาจหลุดพ้นจากความยากจนได้ เกษตรกรเข้าใจสภาพปัญหานี้ดี