ศูนย์วิจัยฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นทองคำ เดือน ก.พ. หดตัวเล็กน้อย แต่ยังเห็นสัญญาณบวก แนะจับตาดอลลาร์-ค่าเงินบาทใกล้ชิด คาดแกว่งในกรอบ 1,160-1,360 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศที่ปรับสูงกว่าเมืองนอก ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า ขณะที่ความเสี่ยงในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เชื่อว่าจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น เชื่อว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจจะทำให้ความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยกลับมาอีกครั้ง
นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ (Gold Price Sentiment Index) เดือนกุมภาพันธ์ 2557 โดยระบุว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำปรับตัวลดลงจากเดือนมกราคมเล็กน้อย แต่ยังสะท้อนมุมมองเชิงบวก โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 53.55 จุด ลดลง 5.06 จุด หรือ 8.63% หลังจากราคาทองคำปรับตัวขึ้นพอสมควรในเดือนมกราคมที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างยังมองทองเชิงบวก แต่ส่วนใหญ่เชื่อราคาทองคำโลกปรับตัวขึ้นอย่างจำกัดแต่ได้ค่าเงินบาทหนุนราคาทองคำในประเทศ ซึ่งมุมมองดังกล่าวสอดคล้องกันทั้งกลุ่มผู้ลงทุนทองคำ และกลุ่มผู้ค้าทองคำ
โดยที่น่าสังเกตคือ ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะ 3 เดือนยังมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และลงมาต่ำกว่าระดับ 50 จุด จึงอาจจะเป็นการสะท้อนว่าในระยะยาวกลุ่มตัวอย่างยังไม่แน่ใจว่าราคาทองคำจะปรับตัวต่อเนื่องหรือไม่ โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะ 3 เดือนอยู่ที่ระดับ 45.72 จุด ลดลง 4.47 จุด โดยมีความวิตกเรื่องการลดขนาดมาตรการ QE และการปรับตัวแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ
นายกมลธัญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวสวนทางกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ค่อนข้างชัดเจน สะท้อนว่าทองคำยังถูกมองเป็นสินทรัพย์ทางเลือกในการป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน ขณะที่ความเสี่ยงในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เชื่อว่าจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจจะทำให้ความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยกลับมาอีกครั้ง
ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย เปิดเผยบทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) ที่รวบรวมตัวอย่างจากผู้ค้าส่งทองคำรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 10 ตัวอย่าง เชื่อว่า ราคาทองคำในตลาดโลกช่วงเดือนกุมภาพันธ์โดยรวมน่าจะใกล้เคียงกับเดือนมกราคม หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยให้กรอบการเคลื่อนไหวในกรอบ 1,160-1,360 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่ากรอบราคาต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์น่าจะอยู่ในช่วง 1,180-1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่กรอบสูงสุดน่าจะอยู่ในกรอบ 1,280-1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ส่วนราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 96.5%) กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าราคาจะเคลื่อนไหวระหว่าง 18,500-20,600 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดกลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักระหว่าง 18,500-18,800 บาทต่อหนึ่งบาท และมีกรอบการเคลื่อนไหวสูงสุดบริเวณ 19,800-20,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และ 20,200-20,400 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ โดยมีประเด็นการอ่อนค่าของค่าเงินบาทที่เกิดจากความเสี่ยงภายในประเทศ การลดขนาดมาตรการ QE ความเสี่ยงในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และอุปสงค์ที่อาจจะชะลอตัวลงในช่วงหลังเทศกาลเป็นปัจจัยสำคัญ