ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ (27 ม.ค.) ปิดที่ระดับ 1,288.59 จุด ปรับตัวลดลง -26.04 จุด หรือ -1.98% มูลค่าการซื้อขายเบาบางเพียง 27,606.04 ล้านบาท ระหว่างวันปรับตัวสูงสุดที่ระดับ 1,298.06 จุด และลดลงต่ำสุดที่ 1,287.35 จุด ภาพรวมดัชนีหลักทรัพย์ยังคงทรงตัวอยู่ในแนวลบตลอดทั้งวัน โดยนักลงทุนรายย่อยซื้อสะสมสูงสุดกว่า 3,981.62 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างประเทศเทขายหุ้นไทยออกไปในสัดส่วนไล่เลี่ยกันกว่า 3,356.97 ล้านบาท จากความกังวลของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และการลดขนาด QE ของสหรัฐฯ ตลอดจนถึงเศรษฐกิจจีนที่เริ่มจะชะลอตัวลง อีกทั้งวิกฤตค่าเงินอาร์เจนตินา และตุรกี อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรจับตาการประชุมระหว่าง กกต. และรัฐบาลในวันพรุ่งนี้
หลักทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น จำนวน 163 หลักทรัพย์ ลดลง 621 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 114 หลักทรัพย์
การซื้อขายสุทธิแยกตามกลุ่มนักลงทุนพบว่า นักลงทุนทั่วไป ซื้อสุทธิ 3,981.62 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักหลักทรัพย์ (บล.) ซื้อสุทธิ 718.25 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ- 3,356.97 ล้านบาท และสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 1,342.90 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับหลักทรัพย์ คือ
AOT ปิดที่ 175.00 บาท ลดลง -0.50 หรือ-0.28% มูลค่าการซื้อขาย 2,788,137 ล้านบาท
KBANK ปิดที่ 171.50 บาท ลดลง -4.00 บาท หรือ -2.28% มูลค่าการซื้อขาย 1,811,465 ล้านบาท
ADVANC ปิดที่ 210.00 บาท ลดลง -5.00 บาท หรือ -2.33% มูลค่าการซื้อขาย 1,414,460 ล้านบาท
PTTGC ปิดที่ 72.00 บาท ลดลง -2.00 หรือ -2.70% มูลค่าการซื้อขาย 1,201,579 ล้านบาท
PTTGC ปิดที่ 161.00 บาท ลดลง -4.00 บาท หรือ -2.42% มูลค่าการซื้อขาย 1,157,934 ล้านบาท
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซีย พลัส หรือ ASP กล่าวว่า การประชุม FOMC ระหว่างวันที่ 28-29 ม.ค. นี้ คาดว่าจะมีการเดินหน้าตัดลด QE เพิ่มเติม หลังจากที่ได้สรุปให้มีการตัดลด QE ไป แล้ว 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (เหลือ7.5 หมื่นล้านเหรียญ) นับตั้งแต่เดือน ม.ค.2557 เป็นต้นไป เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่ดีขึ้นต่อเนื่อง อัตราการว่างงานล่าสุดอยู่ที่ 6.7% เทียบกับเป้าหมายที่ 6.5% ทั้งนี้ จากการสํารวจนักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg จะพบว่า 37 รายจาก 41 ราย คาดว่า FED จะทําการลดขนาด QE ลงอีก 1 หมื่นล้านเหรียญต่อเดือน เหลือ 6.5 หมื่นล้านเหรียญ และจะทยอยลดต่อเนื่องอีกในการประชุมรอบถัดๆ ไป ก่อนที่จะไปยุติโครงการในรอบการประชุมเดือน 16-17 ธ.ค.2557
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ (30 ราย ประมาณ 73% ) ยังเชื่อว่า FED จะยังคงเป้าหมายการว่างงานไว้ที่ 6.5% โดยอาจมีการพิจารณาปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายจากเดิมที่ 0-0.25% หากอัตราการว่างงานลงมาถึงเป้าหมาย (ส่วนที่เหลือคาดว่า FED จะลดเป้าการว่างงานลงเหลือ 6%)
“ในขณะเดียวกัน สถานการณ์การเมืองในประเทศนับวันมีแต่แย่ลง เหตุการณ์ความรุนแรงดูไม่ได้แตกต่างจากอยู่ในภาพยนต์แนวเถื่อนดิบ การชุมนุมเพื่อคัดค้านการเลือกตั้งวานนี้ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และผู้บาดเจ็บอีกหลายราย นี่ขนาดแค่วันเลือกตั้งล่วงหน้ายังขนาดนี้ วันเลือกตั้งจริงคงไม่ต้องพูดถึง ซึ่งการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่จะถึงนี้ยังไม่แน่ชัดว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อน แม้ว่าคําวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ชี้ชัดว่าการเลื่อนเลือกตั้งสามารถทําได้ โดยเป็นอํานาจของนายกรัฐมนตรี และ ประธาน กกต.ที่ต้องร่วมกันหารือ คําวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้เป็นคําสั่งให้เลื่อนเลือกตั้ง จึงทําให้สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีการเลื่อนหรือเลือกตั้งใหม่หรือไม่ โดยจุดยืนระหว่างรัฐบาล และ กกต.ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่าง (กกต. เห็นว่าทําได้โดยการตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ เพื่อแก้ไขพระราชกฤษฎีกาเดิม ขณะที่จุดยืนของรัฐบาล แม้จะยังไม่ชัดเจน แต่ก็มีแนวโน้มไปในทางที่จะไม่เลื่อนกําหนดการเลือกตั้ง) ซึ่งการประชุมร่วมกันที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ บอกตามตรงว่าไม่อยากจะลุ้น และหาก เป็นไปในรูปแบบเดิม เชื่อได้ว่า SET Index อาจมีการปรับลดลงหนักได้”
การเคลื่อนไหวของ SET Index ในช่วงเช้าค่อยๆ ไหลซึมลงติดลบมากขึ้นเรื่อยๆ จังหวะการซึมดูไม่รุนแรง ทําให้ช่วงบ่ายมีโอกาสแกว่งตัวดีขึ้นในกรอบ 1,285-1,295 จุด อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับลงต่ำกว่า 1,285 จุด จะเป็นสัญญาณการลงต่อเนื่องจนถึง 1,270 จุด โดยยังให้คงน้ำหนักการลงทุนไว้ตามเดิมที่ 40%
ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนในวันพรุ่งนี้ แนะนำนักลงทุนลดขนาดของพอร์ตการลงทุนลง และรอความชัดเจน หากยังคงการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557 เชื่อว่าตลาดจะมีการปรับลดลงมาทดสอบระดับต่ำกว่า 1,270 จุด โดยพอร์ตหลักยังคงน้ำหนักไม่เกิน 40% ในกลุ่มหุ้นชุดเดิมคือ หุ้นที่มีปันผลสูง ได้แก่ DELTA, TICON, TTW, PYLON และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ได้แก่ หุ้น CPF, DELTA ขณะเดียวกัน หุ้นในกลุ่ม High EPS Growth ได้แก่ M, INTUCH, DTAC ก็ยังคงมีความน่าสนใจอยู่ และหุ้นที่ราคาปรับถูกลงมากแต่มีพื้นฐานแกร่งได้แก่ STPI, STEC