แรงซื้อ GCAP กระฉูดเปิดเทรดวันแรกวิ่งทะลุ 4.68 บาท จากราคา IPO ที่ 2.70 บาท ณ เวลา 09.58 นาที จากปัจจัยพื้นฐานหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และมีอัตราเติบโตต่อเนื่อง ตั้งเป้าปีหน้าพอร์ตสินเชื่อทะลุ 1 พันล้าน รายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากความต้องการในสินเชื่อเครื่องจักรกลการเกษตรที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง
รายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. แจ้งว่า การเข้าซื้อขายบนกระดานของหุ้น บมจ.จี แคปปิตอล หรือ GCAP ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เปิดที่ระดับ 4.68 บาท เพิ่มขึ้น 1.98 บาท หรือ 73.33% จากราคา IPOที่ 2.70 บาท/หุ้น ณ เวลา 09.58 นาที มูลค่าการซื้อขาย 112.02 ล้านบาท
นายสันติ หอกิตติคุณ กรรมการผู้จัดการ บมจ.จี แคปปิตอล หรือ GCAP กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อในปีหน้าคาดว่าจะทะลุ 1 พันล้านบาท หลังจาก 9 เดือนแรกของปีนี้บริษัทมีพอร์ตสินเชื่อกว่า 776 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทฯคาดว่าในปีหน้าจะมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ทั้งนี้ บริษัทฯ มองตลาดสินเชื่อเพื่อการเกษตรกรรมยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้ต่อเนื่อง เพราะการขยายตัวของพื้นที่เพื่อการเกษตรยังมีอยู่มาก ในขณะเดียวกัน หุ้น IPO ที่ออกขายอยู่ในราคาที่เหมาะสม ส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO นั้น จะนำไปบริหารพอร์ตสินเชื่อเพิ่มเติม และขยายสาขาของบริษัท ซึ่งในปัจจุบันที่มีอยู่ 6 สาขา คือ เชียงราย พิษณุโลก อุบลราชธานี สุรินทร์ ขอนแก่น และฉะเชิงเทรา โดยการขยายสาขานั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ และพันธมิตรเกษตรพัฒนาผู้ผลิตรถไถ และเครื่องจักรเพื่อการเกษตรกรรม
“บริษัทมองว่าธนาคารยังคงไม่เข้ามาในส่วนของสินเชื่อเครื่องจักรเกษตรมากนัก เนื่องจากกลุ่มลูกค้าอาจจะไม่ใช่เป้าหมายใหญ่ ซึ่งธนาคารจะพิจารณาจากแบบฟอร์มผู้ขอกู้ที่ยื่นความจำนงเข้ามา โดยจะตรวจสอบฐานความเสี่ยงที่จะไม่ก่อให้เกิดหนี้สูญ หรือ NLP และจะมีเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ความเสี่ยงว่าจะอนุมัติสินเชื่อให้ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทฯ มีลูกค้าประมาณ 2 พันราย และมีบัญชีสินเชื่อเคลื่อนไหวประมาณ 1 พันกว่าราย โดยสิ้นไตรมาสที่ 3 บริษัทมีมูลค่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 65 ล้านบาท แต่บริษัทฯ ได้ตั้งสำรองเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงไว้ที่ 74 ล้านบาท”
ขณะเดียวกัน ส่วนต่างดอกเบี้ยรับอยู่ที่ 13% ซึ่งคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยในปีหน้าจะมีอัตราที่ปรับลดลง เนื่องจากการกระตุ้นเศรษฐกิจโดย คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ที่จะกำหนดนโยบายดอกเบี้ยลงในลักษณะชี้นำ ซึ่งบริษัทคาดว่าจะมีเกษตรกรจะเข้ามาขอสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น