ดับฝันอสังหาฯ ตึกสูงไม่เกิน 8 ชั้น ขนาดไม่เกิน 1 หมื่น ตร.ม.ไม่ต้องขอ EIA พร้อมกระจายอำนาจการพิจารณา EIA สู่ท้องถิ่น หลัง “ปู ยิ่งลักษณ์” ยุบสภาหนีมวลมหาประชาชน ด้านนายกสมาคมอาคารชุดไทยไม่ถอดใจ รอเสนอรัฐบาลหน้าต่อไป
ความหวังที่จะได้ปลดล็อกการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment : EIA ซึ่ง EIA ในภาคผู้ประกอบการถือเป็นกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งจากปัญหาการกระจุกตัวของโครงการที่รอคิวพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) จำนวนมาก เนื่องจากการพิจารณารวมอยู่ที่ศูนย์กลางเพียงแห่งเดียว ยกเว้นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภูเก็ต และพัทยา
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังอ้างว่าการพิจารณาด้วยการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการจัดทำรายงาน EIA เพราะการพัฒนาโครงการในรูปแบบเดียวกัน บางโครงการผ่านการพิจารณา แต่บางโครงการกลับไม่ผ่านการพิจารณา ต้องกลับมาจัดทำรายงานใหม่ ปรับผังโครงการใหม่ บางโครงการถึงขั้นล้มไปเลย สร้างความเสียหายต่อบริษัทอย่างมาก
ก่อหน้านี้ 3 สมาคมอสังหาฯ ได้ทำหนังสือถึง นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3 ประเด็น ได้แก่ 1.รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เกิดคอขวดให้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 2.เพื่อให้การพิจารณาของท้องถิ่นเป็นไปอย่างถูกต้อง ให้จัดทำคู่มือประกอบการพิจารณา 3.เมื่อยื่นรายงาน EIA และจากนั้นให้ผู้ชำนาญการตรวจสอบ ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าพัฒนาโครงการได้เลยโดยไม่ต้องรอผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ EIA คล้ายกับมาตร 39 ทวิ
ความฝันอยู่ใกล้แค่เอื้อมเมื่อ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับลูกพร้อมสั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ปรับลดระยะเวลาในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้สั้นลง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ โดยยังคงมาตรฐานความเข้มข้นทางด้านวิชาการ และความโปร่งใส
พร้อมกำหนดให้ประเภท และขนาดของโครงการห รือกิจการที่สามารถขอรับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA ตามมาตรา 46 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 โดยจะกำหนดให้โครงการประเภทอาคารอยู่อาศัยรวม และโรงแรมที่มีความสูงน้อยกว่า 23 เมตร (8 ชั้น) และพื้นที่ใช้สอยรวมทุกอาคารน้อยกว่า 10,000 ตารางเมตร สามารถขอรับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA โดยจะต้องยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการ หรือกิจการ และหลักเกณฑ์ วิธีการที่โครงการห รือกิจการสามารถขอรับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA ต่อไป
ส่วนขั้นตอนการพิจารณา EIA ทั้งสิ้น 4 ขั้นตอน ได้แก่ขั้นตอนที่ 1 “ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสาร” โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งสามารถปรับลดระยะเวลาลงจากเดิมภายใน 15 วัน คงเหลือภายใน 7 วันทำการ
ขั้นตอนที่ 2 “ทำความเห็นเบื้องต้น” โดยเจ้าหน้าที่ สผ.จะต้องไปตรวจสอบพื้นที่โครงการที่จะดำเนินการ เพื่อประกอบการทำความเห็นเบื้องต้นให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ภายใน 15 วัน ขั้นตอนที่ 3 การพิจารณาของ คชก.ครั้งที่ 1 พิจารณารายงาน EIA ภายใน 45 วัน หากโครงการใดที่ คชก. มีความเห็น หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ผู้ประกอบการจะต้องนำเสนอข้อมูลให้ครบถ้วน เพื่อให้ คชก. พิจารณารายงาน EIA ครั้งที่ 2 ในประเด็นดังกล่าว ภายใน 30 วัน เป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งในขั้นตอนนี้ สผ. ได้ออกแนวทางปฏิบัติให้ผู้มีบทบาทหน้าที่ใน คชก. เช่น ประธาน, ฝ่ายเลขานุการ, หน่วยงานอนุญาต และผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ให้มีประเด็นเพิ่มเติมจากความเห็นที่ให้ไว้ในขั้นตอนที่ 3 เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ม าตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าวจะยังคงความเข้มข้นไม่ต่างจากมาตรการในกระบวนการพิจารณาของ คชก. รวมทั้งผู้ประกอบการจะต้องยินยอมปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว รวมถึงต้องมีการสำรวจ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงในรัศมี 500 เมตร จากพื้นที่โครงการ หรือกิจการ และหน่วยงานอนุมัติจะต้องมีการติดตามตรวจสอบผลการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ และภาคสังคมว่า การยกเว้นอาคารที่มีขนาดความสูงไม่เกิน 23 ม. หรือขนาดไม่เกิน 10,000 ตร.ม. ไม่ต้องจัดทำ EIA อาจทำให้การพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการด้อยคุณภาพลงมาตรการดังกล่าว รอเพียงความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และเตรียมออกเป็นประกาศกระทรวงพร้อมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแจ้งให้ทราบภายในเดือนธันวาคมนี้ อีกเพียงนิดเดียวเท่านั้นผู้ประกอบการก็จะลงทุนพัฒนาโครงการได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
แต่เมื่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ประกาศยุบสภา ภายหลังมวลมหาประชาชนออกมาประท้วงขับไล่ นายธำรงค์ ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวคงต้องแท้งไปพร้อมกับรัฐบาล ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ หลังจากนี้ จะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารบ้านเมือง ซึ่งทางสมาคมอสังหาฯ พร้อมที่จะเดินหน้าผลักดันข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อไป