บล.เออีซี น้องใหม่ผู้มาพร้อมคอนเน็กชัน และทีมผู้บริหารมากประสบการณ์ วางเป้า 3 ปี มาร์เกตแชร์ 5% จากรายย่อย-สถาบัน-วีไอพี พร้อมขึ้นสู่โบรกเกอร์ชั้นนำในการบุกตลาดอาเซียน
เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ในด้านธุรกิจหลักทรัพย์ มีการเปลี่ยนแปลง หรือแต่งตัวรอรับการเปิดเสรีไร้พรมแดนกันมาล่วงหน้าหลายปี หริษัทหลักทรัพย์บางแห่งมีการควบรวมกิจการระหว่างกัน บางรายเทกโอเวอร์กิจการอื่นเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง และบางรายก็เป็นน้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในตลาดหุ้น แต่ประสบการณ์ของผู้บริหารไม่ได้ใหม่ตามบริษัท เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เออีซี จำกัด (มหาชน)
กอบเกียรติ บุญธีรวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เออีซี จำกัด (มหาชน) (AEC) กล่าวถึงที่มาของ บล.เออีซี ว่า บล.เออีซี เกิดจากนักลงทุนกลุ่มใหม่คือ อาจารย์ประพน มิลินทจินดา พร้อมผู้ร่วมลงทุนได้เข้ามาเทกโอเวอร์บล.ยูไนเต็ด จาก บล.ยูโอบี เคย์เฮียน เพราะมองว่าหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เชื่อว่าการเคลื่อนย้ายของทุนจะมีบทบาทมากขึ้น จึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเข้ามาทำธุรกิจหลักทรัพย์ เพราะธุรกิจนี้ไม่เพียงเป็นแค่ตัวแทนในการซื้อขายหุ้น แต่ยังสามารถเชื่อมโยงคน หรือบริษัทให้เข้ามาถึงแหล่งทุนได้ เช่น คนที่ต้องการทุน ต้องการขายกิจการ หรือต้องการพาร์ตเนอร์ และด้วยคอนเน็กชันของผู้ถือหุ้น คณะกรรมกรรมบริษัท หรือแม้แต่คณะที่ปรึกษา เช่น อาจารย์สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ทำให้บริษัทเชื่อว่าด้วยคอนเน็กชันที่มีจะช่วยตอบโจทย์แก่ลูกค้าของบริษัทได้
ทั้งนี้ บล.เออีซี มีใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจ 5 ไลเซนส์ ทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ ธุรกรรมซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกรรม prop trade ธุรกรรมวาณิชธนกิจ และที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งจะเป็นรายได้หลักของบริษัทในอนาคต และธุรกรรมซื้อขายนายหน้าหน่วยลงทุน (Selling Agent) ซึ่งจะเป็นตัวเสริมธุรกิจต่างๆ ช่วยให้ บล.เออีซี มีการให้บริการครบวงจร
นอกจากนี้ บล.เออีซี วางเป้าเข้าเจาะกลุ่มลูกค้าสถาบัน เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) สำนักงานประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เข้ามาใช้บริการบริษัท ซึ่งจะเข้ามาเสริมให้ส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ของ บล.เออีซี ให้แข็งแกร่งขึ้น
ขณะเดียวกัน บริษัทได้ให้ความสำคัญต่อธุรกรรมวาณิชธนกิจด้วย เพราะมองว่าเป็นจังหวะที่ดีหลายธุรกิจเริ่มตื่นตัวต่อการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าที่มีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นหลายบริษัท เช่นเดียวกับธุรกรรม M&A การซื้อขายควบรวมกิจการ ซึ่งได้รับความนิยมมาก อีกทั้งบริษัทมีคอนเน็กชันกับกลุ่มทุนจากจีน ทำให้ช่วยตอบโจทย์บริษัทจดทะเบียนไทยหลายราย
นอกจากนี้ บล.เออีซี สนใจจัดตั้ง บลจ. ของตนเองเพราะมองว่าการเข้ามาทำธุรกิจดังกล่าวจะช่วยเป็นการขยายฐานลูกค้า และตอบโจทย์ให้แก่ลูกค้าได้อย่างครบวงจร
“การขายธุรกิจของเรา เรามองว่าต้องเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้เพื่อรองรับการเปิดเสรีในปี 2558 เพราะเมื่อถึงวันนั้นเราก็สามารถทำตัวเราให้พร้อมเพื่อจะได้หาคู่แข่งขันจากต่างประเทศได้ และมีโอกาสชักชวนเข้ามาร่วมเป็นพาร์ทตนอร์กัน เช่นในสิงคโปร์ และมาเลเซีย รวมถึงการร่วมมือกับโบรกเกอร์ในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์”
ทั้งนี้ ในด้านธุรกรรมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ บล.เออีซี วงเป้าหมายภายใน 3 ปี จะมีมาร์เกตแชร์ 5% หรือขึ้นมาเป็นโบรกเกอร์ขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ นอกจากนี้ ในปี 2557 บริษัทมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มเติม 3-4 แห่ง และรับสมัครงานเจ้าหน้าที่การตลาดจากทุกสารทิศที่ต้องการความท้าทาย และผลตอบแทนในระดับที่ดี
“เป้า 5% ไม่ใช่เรื่องง่าย โบรกเกอร์ใหญ่ทุกวันนี้มีประมาณ 5 รายที่ทำได้ ที่เหลือ 3% ประมาณ 10 กว่าราย ดังนั้น แผนเราคือ ทำสัดส่วนนักลงทุนทั่วไปให้ได้ 2-3% ขณะที่มีลูกค้าสถาบันอีก 1% ที่เหลือเป็นมาร์เกตแชร์ของลูกค้ารายใหญ่ (วีไอพี) พวกอินเทอร์เน็ต พวก Prop trade อีก 1% ก็จะได้ครบ 5% ตามเป้าหมาย แต่ถ้าจะให้รุกลูกค้าทั่วไปอย่างเดียว 5% คงยาก และอาจจะมีแต่วอลุ่มเพียงอย่างเดียว หรือหากรุกรายใหญ่แต่ค่าคอมมิชชันถูกเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ ตรงนี้ต้องพยายามสร้างฐานให้บาลานซ์ ค่อยๆ สร้างฐานลูกค้าสถาบัน ส่วนรายย่อยจะขยับขยายไปภูมิภาคเพื่อบริหารให้ทั่วถึง ด้วยการขยายสาขาไปต่างจังหวัด เพราะหากมุ่งหวังแต่ในกรุงเทพฯ การจะได้มาเสริมมาร์เกตแชร์คงยาก เป้าหมายตรงนี้เราตั้งไว้ภายใน 3 ปี”
สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมโบรกเกอร์ทั้งใน และต่างประเทศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เออีซี ให้คามเห็นว่า การแข่งขันกับโบรกเกอร์ต่างประเทศ หรือในประเทศก็ตาม หากเรามองว่าน่ากลัวนั่นหมายถึงเราตั้งรับ แต่อยากให้มองว่าเค้กมันใหญ่ขึ้น การแข่งขันย่อมรุนแรงขึ้นเป็นเรื่องธรรมดาอยู่ที่ว่าใครให้บริการได้ดีกว่า มีคุณภาพในบริการที่ดีกว่ากัน โบกเกอร์ไหนหากคิดแข่งขันตัดราคาอย่างเดียวมองว่าอยู่ไม่รอด