xs
xsm
sm
md
lg

“ไพบูลย์” ชี้ พ.ร.บ.เหมาเข่งฉีกกฎหมายทิ้งไร้ความศักดิ์สิทธิ์ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน
ประธานสภาตลาดทุนย้ำจุดยืนไม่เอา “พ.ร.บ.เหมาเข่ง” ฟันธงวิกฤตการเมืองยิ่งเลวร้าย เท่ากับฉีกกฎหมายทิ้ง ขาดความศักดิ์สิทธิ์ ยากที่จะดึงศรัทธาต่างชาติกลับมาเหมือนเดิม แนะรัฐบาลอย่าดันทุรัง หันกลับมาเจรจาหาข้อยุติเพื่อประโยชน์โดยรวมของคนทั้งชาติ
 


 
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า จากสถานการณ์ความรุนแรงในการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในช่วงนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งสถานการณ์ความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นอยู่กับความกดดัน และการปลุกระดมของแกนนำ ตลอดจนถึงสถานการณ์ที่จะบีบคั้นรุนแรงมากแค่ไหน ซึ่งหากมีการควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนมากนัก แต่หากสถานการณ์บานปลายรุนแรกออกไปจนเกินกว่าที่จะควบคุมแล้ว หรือทางรัฐบาลยังคงมุ่งมั่นที่จะผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ให้ผ่านสภาต่อไป อาจส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นในกฎหมายของประเทศหมดความศักดิ์สิทธิ์ลง และโดยรวมมุมมองจากต่างประเทศจะมีผลกระทบตามมาค่อนข้างมากในทางลบ ทำให้ประเทศไทยขาดความน่าเชื่อถือจนยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่จุดเดิมได้ ทั้งนี้ อยากให้ทุกฝ่ายหันมาเจรจาเพื่อหาข้อยุติที่ลงตัวซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศ และการลงทุนไทย

“ทางสภาธุรกิจตลาดทุนก็ได้มีการแถลงออกไปแล้วว่า หากเกิด พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคอร์รัปชัน เราก็ไม่ได้เห็นด้วย ซึ่งยังเป็นจุดยืนของเรา และหากจะมีการไต่สวนกันก็ควรจะเข้าสู่ระบบศาลยุติธรรมให้เป็นผู้พิจารณา ซึ่งมองว่าหากนิรโทษกรรมทั้งหมดเรื่องคอร์รัปชันก็อาจจะทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติลดลงได้ และตามมาด้วยความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา มีสัญญาณของเงินทุนไหลออกของต่างชาติ จากเรื่องของการชะลอมาตรการ QE ไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท โดยช่วงนี้จึงอาจไม่ค่อยเห็นการไหลออกของเงินทุนมากเท่าไหร่นัก อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้กลับมองว่ามีโอกาสเห็นเม็ดเงินไหลกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยตามเทศกาลท่องเที่ยวที่ควรจะเป็น แต่กลับชะลอขึ้นจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ ซึ่งมีผลต่อจิตวิทยา และเศรษฐกิจประเทศทั้งระบบ นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในประเทศที่มีต่อรัฐบาลกลับปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ในอนาคตมีแนวโน้มที่นักวิเคราะห์อาจจะมีการปรับประมาณการความน่าเชื่อถือ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น