xs
xsm
sm
md
lg

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ลั่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต้องสอดคล้องสิทธิมนุษยชน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ (25 ต.ค.) น.ส.ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่สภา ว่าหากรัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมความผิดที่กระทำขึ้นนับแต่ในระหว่างที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองของไทยต้องไม่กลายเป็นการส่งเสริมการลอยนวลพ้นผิดของผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง และการใช้กฎหมายดังกล่าวควรสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย

“การนิรโทษกรรมต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงเป็นสิ่งที่ไม่อาจกระทำได้ตามหลักสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยควรดำเนินการสอบสวนตามข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น โดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองของบุคคลที่เกี่ยวข้อง และควรมีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อความผิดทางอาญา” น.ส.ปริญญากล่าว

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เรียกร้องให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ นิรโทษกรรมให้กับนักโทษทางความคิดซึ่งหมายถึงการที่พวกเขาถูกจับกุมคุมขังเพียงเพราะมีความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อทางศาสนา หรือความเชื่ออื่นๆ หรืออาจเพราะมีชาติพันธุ์ เพศ สีผิว ภาษา ถิ่นกำเนิด สังคม สถานภาพทางเศรษฐกิจ ชาติกำเนิด แนวโน้มทางเพศ หรือสถานภาพอื่นๆ ที่แตกต่าง โดยการแสดงออกถึงสิ่งดังกล่าวนั้นไม่ได้ใช้ความรุนแรง หรือสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง หรือก่อให้เกิดความเกลียดทางเชื้อชาติหรือศาสนาในสังคม

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเมืองเมื่อปี 2548 ประเทศไทยมีนักโทษทางความคิดจำนวนไม่น้อยที่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งหลายกรณีมีสาเหตุมาจากการกลั่นแกล้งหรือวามขัดแย้งทางการเมือง

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวอีกว่า มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นี้ทำให้ประเทศไทยละเมิดต่อพันธกรณีด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และควรมีการถอนข้อกล่าวหาทั้งปวงต่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะการแสดงออกหรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างสันติ ผู้ที่ถูกคุมขังเหล่านี้ถือเป็นนักโทษทางความคิดและควรได้รับการปล่อยตัวทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงกระตุ้นให้ทางการไทยพิจารณาแก้ไขมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เป็นไปตามตามบรรทัดฐานและมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งกำหนดหน้าที่ให้รัฐต้องสอบสวนและฟ้องร้องดำเนินคดีเมื่อมีข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคล

“ประเทศไทยต้องยึดการรับผิดเป็นหลักเหนือกว่าการให้นิรโทษกรรม ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น และควรมีการปล่อยตัวนักโทษความคิดทุกคน” ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น