“บีเอ็นพี พาริบาส์” ชี้การเมืองป่วน นักท่องเที่ยวเผ่น ยอมรับการเมืองไทยได้กลับมาอยู่ในใจของนักลงทุนอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษสุดซอย ปลุกความทรงจำกับเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในปี 53 เชื่อกระทบจีดีพีปีนี้ลดลง 0.2% หากลากยาวถึงปีหน้า คาดจีดีพีหายอีก 0.5% ชี้ชัดการเร่งเข็น พ.ร.บ.นิรโทษสุดซอย สะท้อนความอ่อนแอทางการเมืองอีกครั้ง
รายงานข่าวแจ้งว่า บีเอ็นพี พาริบาส์ วาณิชธนกิจชั้นนำของยุโรปได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ และการเมืองไทยขณะนี้ว่า หลังจากความวุ่นวายการเมืองห่างหายไปช่วงสั้นๆ ตอนนี้การเมืองไทยได้กลับมาอยู่ในใจของนักลงทุนอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปลุกความทรงจำกับเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในปี 2553
ทั้งนี้ การผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเหมือนประเด็นอ่อนแอทางการเมืองครั้งล่าสุด ซึ่งตอกย้ำส่งผลกระทบความรู้สึกของนักลงทุน และผลที่เกิดขึ้นตามมากับเศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่ปี 2543 และร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวุฒิสภาขณะนี้ และแม้ว่าร่าง พ.ร.บ.อาจยังไม่ได้ผ่านเป็นร่างกฎหมายในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า แต่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงเทพมหานคร พร้อมทำให้ตลาดหุ้นไทยตก เพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ลี้ภัยในต่างประเทศกลับสู่ประเทศไทยได้ ซึ่งผลที่ตามมาคือมีเสียงคัดค้านอย่างแข็งกร้าวต่อต้านการผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
บทวิเคราะห์ชี้ว่า หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ระดับสูงเป็นตัวถ่วงทำให้ภาคเอกชนไม่ค่อยใช้จ่ายในปีนี้ และเป็นเหตุผลเบื้องต้นทำให้บีเอ็นพี พาริบาส์ คาดการณ์จีดีพีไทยปี 2556 ไว้ที่ 3% ต่ำกว่าที่คนส่วนใหญ่คาดไว้ 4% และเชื่อว่าระดับนี้ครัวเรือนปัจจุบัน ทำให้ไม่มีแนวโน้มที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคจะสามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้ การค้าระดับภูมิภาคส่งสัญญาณเงียบเหงา ทำให้วงจรการส่งออกไม่มีแนวโน้มจะแสดงความแข็งแกร่งอย่างที่เคยเห็นในปี 2554
โดยเศรษฐกิจไทยรับรู้ถึงผลกระทบเกิดจากการประท้วงในปี 2553 ล้วนเกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว การเข้ามาของนักท่องเที่ยวลดลงต่ำกว่ามาตรฐานที่เคยทำได้ ซึ่งเรียกความสนใจจากสื่อมวลชนทั่วโลก อาจนำไปสู่การมองไทยทั้งประเทศว่าเป็นประเทศมีแต่ความยุ่งเหยิงวุนวาย และจากสถานการณ์เกิดขึ้นทำให้เกรงกันว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้ง และผลกระทบเกิดขึ้นโดยตรงที่มีต่อภาคธุรกิจต่างๆ เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาจทำให้คาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้หายไป 0.2% และคาดการณ์การเติบโตจีดีพีปีหน้าหายไป 0.5%