เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นซึ่งประกอบด้วย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ภาคเอกชน และภาควิชาการ ผนึกกำลังคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย “ประมนต์” ตัวแทนเครือข่ายเตรียมยื่นหนังสือคัดค้านต่อวุฒิสภา 15.00 น. ลั่นคอร์รัปชันไม่ว่าใครก็ยกโทษให้ไม่ได้หากยกโทษได้ประเทศชาติล่มสลาย วงการศึกษาคงไม่มีอะไรเป็นหลัก
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยหลังการหารือร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งประกอบด้วย 3 ภาคส่วน ได้แก่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ภาคเอกชน และภาควิชาการ (27 มหาวิทยาลัย) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ฯลฯ เพื่อแสดงจุดยืนในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยตนในฐานะตัวแทนเครือข่ายฯ จะไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อวุฒิสภาในเวลา 15.00 น. ของวันนี้ (4 พ.ย.)
“หลังจากหารือแต่ละองค์กรจะไปแถลงจุดยืนของตนเองอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งวันนี้สิ่งที่เอกชนและนักวิชาการเคลื่อนไหวยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นเรื่องของกระบวนการที่จะต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง และเห็นว่าปัญหานี้จะนำไปสู่วิกฤตของประเทศซึ่งเราจะไปยื่นวุฒิสภา เพราะขั้นตอนจากนี้ไปวุฒิสภาจะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และหลังจากนั้นหากยังไม่จบก็คงมองไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทางเราเองรวมตัวก็หวังว่าสิ่งที่เรียกร้องจะได้รับการพิจารณา แต่ถึงที่สุดหากไม่ได้รับการแก้ไขก็คงจะต้องติดตามและทำหน้าที่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในสิ่งที่ถูกต้องต่อไป” นายประมนต์กล่าว
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นกระบวนการดำเนินการแทรกแซงกฎหมายที่กระทบต่อหลักนิติรัฐและกระทบหลักเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชัน ซึ่งจะทำให้ประเทศประสบปัญหาในหลักการเป็นอย่างมากจึงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องออกมาคัดค้าน โดยล่าสุดเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นก็ได้เปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้าน 1 ล้านรายชื่อ ซึ่งขณะนี้มีผู้มาลงชื่อคัดค้านแล้ว 4 แสนรายชื่อ
นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวไม่มีหลักนิติรัฐ เปิดให้การคอร์รัปชันสามารถยกโทษให้ได้ต่อไปประเทศคงจะล่มสลาย วงการการศึกษาคงไม่มีอะไรเป็นหลัก ประเทศไทยจะอยู่กันได้อย่างไร
นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ไทยจะต้องมีแนวทางที่ต้องให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เรื่องนี้ที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ฝ่ายการเมืองต้องไปแก้ไขกันเอง แต่ภาคธุรกิจและนักวิชาการมองในแง่ของการคอร์รัปชันที่ไม่ใช่ใครผิดแล้วก็สามารถยกโทษให้ได้เพราะถือว่าจะขัดต่อนิติรัฐ
“ไม่ว่าใคร ไม่ใช่แค่นักการเมืองทุกคนเมื่อทำผิดกฎหมายและถูกลงโทษทางกฎหมายแล้วจะต้องไม่สามารถยกโทษให้ได้ ถ้ายกโทษให้ได้แนวทางบริหารประเทศจะนำไปสู่ความสงบสุขได้อย่างไร” นพ.เฉลิมชัยกล่าว