xs
xsm
sm
md
lg

เล็งเพิ่มลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา หักค่าใช้จ่ายส่วนตัวเพิ่มเป็น 1.2 แสนบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สรรพากร” เตรียมเพิ่มลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา หักค่าใช้จ่ายส่วนตัวจากเดิมแค่ 6 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 1.2 แสนบาท เพื่อช่วยลดภาระมนุษย์เงินเดือน ส่วนผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 1.5 แสนบาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี

นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรเตรียมเสนอให้เพิ่มวงเงินรายจ่ายเพื่อหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมที่หักค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้ไม่เกิน 6 หมื่นบาทต่อปี เพิ่มเป็น 120,000 บาทต่อปี เพื่อใช้หักจากรายได้ประจำปี

“เสนอให้ระดับนโยบายรับทราบแล้ว เพราะอัตราการหักค่าใช้จ่ายเดิมใช้มานานแล้ว ขณะที่สภาพเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ภาระรายจ่ายของผู้เสียภาษี โดยเฉพาะคนที่กินเงินเดือนเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น สมควรที่จะพิจารณาปรับเพิ่มรายจ่ายที่จะนำมาหักลดหย่อนภาษีให้สูงขึ้น เพื่อบรรเทาภาระภาษีของบุคคลธรรมดา” นายสุทธิชัยกล่าว

ตามประมวลรัษฎากร กำหนดให้เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน โบนัส และเงินได้จากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำ เช่น ค่านายหน้า เงินอุดหนุน ค่าส่วนลด เป็นต้น จะสามารถหักรายจ่ายได้ 40% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาทต่อปี จากนั้นจึงคิดรายได้ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ทั้งนี้ โครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา ปัจจุบันประกาศใช้เมื่อปี 2551 โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี เงินได้สุทธิ 150,001-500,000 บาท เสียภาษี 10%, เงินได้สุทธิ 500,001-1,000,000 บาท เสียภาษี 20%,เงินได้สุทธิ 1,000,001-4,000,000 บาท เสียภาษี 30% และผู้มีเงินได้สุทธิ 4,000,001 บาท เสียภาษี 37%

นายสุทธิชัย กล่าวว่า ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังคิดวิธีการหักค่าใช้ คือ จะคงอัตราการหักค่าใช้จ่ายในสัดส่วน 40% ของเงินได้ แต่ในส่วนที่กำหนดไว้ไม่เกิน 6 หมื่นบาท จะขยับขึ้นเป็นไม่เกิน 1.2 แสนบาทต่อปี แต่สำหรับ 6 หมื่นบาทที่สองที่เพิ่มขึ้นมา จะกำหนดให้ผู้มีเงินได้นำใบกำกับภาษีซื้อในปีนั้นๆ มาหักเป็นรายจ่ายได้ไม่เกิน 6 หมื่นบาท

“แนวทางนี้นอกจากจะเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่บุคคลธรรมดาแล้ว ยังเป็นการช่วยกรมสรรพากร สอบยันการเสียภาษีของธุรกิจด้วย เพราะผู้เสียภาษีก็จะเรียกร้องขอใบเสร็จรับเงินจากผู้ประกอบการร้านค้า ทำให้ร้านค้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้”

นายสุทธิชัย กล่าวว่า เมื่อกรมสรรพากรเพิ่มวงเงินการหักลดหย่อนภาษีดังกล่าวแล้ว การลดหย่อนรายการอื่นอาจถูกจะพิจารณายกเลิก เช่น การลดหย่อนภาษีด้วยการลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟ หรือกองทุนอาร์เอ็มเอฟ แต่จะต้องดูว่าการสนับสนุนการออมในรูปของการลงทุนนั้น บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่

ก่อนหน้านี้ มีนักวิชาการเสนอให้รัฐบาลยกเลิกการลดหย่อนภาษีกองทุนดังกล่าว เพราะเห็นว่าสร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้มากขึ้น ระหว่างคนรวยกับคนจน โดยกองทุนดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการออมภาคประชาชน และลงทุนในตลาดเงินเพื่อลดความผันผวน เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งผู้ที่ลงทุนสามารถลดหย่อนได้ 15% ของรายได้
กำลังโหลดความคิดเห็น