xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงคนไทยออมเงินน้อยลง แนะรัฐบาลตีปี๊บวันออมแห่งชาติ ME by TMB หนุน “ออมก่อน รวยกว่า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุวรรณ วลัยเสถียร” ในฐานะประธานชมรมคนออมเงิน ชี้สถานการณ์การออมเงินคนไทยน่าเป็นห่วง ภาครัฐต้องให้ความสำคัญการสร้างวินัยการอย่างจริงจัง รัฐบาลต้องเป็นแกนนำในการออม เผย 31 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันออมแห่งชาติ แต่ถูกละเลย ด้าน ME by TMB ได้จังหวะปล่อยของดี เปิดแนวคิดใหม่ “ออมก่อน รวยกว่า”

นายสุวรรณ วลัยเสถียร ประธานชมรมคนออมเงิน กล่าวบนเวทีสัมนนา ในหัวข้อ “ภาพรวมและสถานการณ์การออมเงินของคนไทยในปัจจุบัน” จัดโดย ME by TMB เนื่องในวันออมแห่งชาติ 31 ตุลาคม ของทุกปี ว่า ระดับการออมของครัวเรือนไทย ระหว่างปี 2533-2553 ค่าเฉลี่ยการออมต่อรายได้ลดจากร้อยละ 11.3 เหลือร้อยละ 9.2 จุดนี้เป็นจุดอันตรายสำหรับครอบครัวคนไทยยุคใหม่ที่ละเลยการเก็บออมของครอบครัว ที่น่าตกใจกว่านั้น เมื่อพบว่าไม่ออมแล้วยังก่อหนี้ ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะแต่เดิมคนไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก แต่ปัจจุบันการเข้าถึงสถาบันการเงินเป็นเรื่องง่ายมาก หลายคนก็มีวินัย แต่ส่วนใหญ่ไม่มีวินัย จึงทำให้เป็นหนี้มาก

“ท่ามกลางความไม่แน่นอนมากมาย เราทุกคนอาจต้องใส่ใจเรื่องออมเงินมากขึ้น อันดับแรกต้องรู้จักบริหารเงินให้เหมาะกับความต้องการของตัวเอง ต้องศึกษาหาความรู้ไม่ใช่ ยิ่งออมยิ่งจน คือเอาเงินไปฝากในบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่า 3% ซึ่งนั่นเท่ากับเงินออมต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งนั่นหมายความว่า เงินออมที่มีอยู่จะลดค่าลงเรื่อยๆ และเมื่อออมที่พอเหมาะพอดี เรียกว่ามีฐานเงินออมที่มั่นคงแล้ว จึงค่อยนำเงินที่เหลือนั้นไปลงทุนเพื่อให้งอกเงยยิ่งขึ้น” นายสุวรรณย้ำ

อันดับต่อมาคือ ออมแล้ว ห้ามนำเงินนั้นมาใช้ เพราะหากบังคับตัวเองไม่ได้ ก็จะไม่รวยขึ้นแน่นอน ส่วนประเด็นตัวเลขการออม ไม่ว่าจะเป็นสูตรใด 80:20 หรือ 70:30 เป็นความสำคัญอันดับรอง ประการสำคัญคือ ต้องออมทุกเดือน และจะยิ่งดีหากออมแล้วต่อยอดเงินนั้นให้เพิ่มมูลค่า

นายสุวรรณ บอกว่า แนวโน้มของคนไทยเริ่มสนใจเรื่องการวางแผนการเงินมากขึ้น และเอาใจใส่ตั้งแต่อายุยังน้อย กล่าวคือ ช่วงวัยรุ่นบางคนหันมาใส่ใจการต่อยอดสินทรัพย์ให้งอกเงย แต่นั่นเป็นภาพที่มองเห็นในสัดส่วนจำนวนไม่มาก

“ถือเป็นเรื่องที่ดีที่เขาเหล่านั้นมองเห็นความสำคัญของการออม แม้ยังเป็นสัดส่วนไม่มากก็ตาม แต่เชื่อเถอะว่าสิ่งนี้ จะตอบแทนคุณในอนาคต เพราะกลุ่มนี้ต้องโตขึ้น และหากไม่เริ่มเก็บออม ก็จะมีเงินเก็บเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะอัตราค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้รายจ่ายเพิ่มทวีเป็นเงาตามตัว แม้จะมีคำเตือน และมีการสอนการวางแผนด้านการเงินให้แก่คนยุคใหม่ แต่เชื่อไหมยังมีกลุ่มคนเป็นพวกไม่กลัวน้ำร้อน ปล่อยตัวแบบสบายๆ บ้างก็อ้างว่า ทำไม่ได้ เพราะภาระค่าใช้จ่าย รวมทั้งค่านิยมบางอย่างในชีวิตของคนยุคนี้ ทำให้การเก็บออมไม่สำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งนั่นเป็นหายนะชัดๆ” นายสุวรรณกล่าวและว่า เราต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน ต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องการเตรียมตัวการออม หากจะให้ดีต้องปลูกฝังให้เยาวชนลูกหลานของเรานั้นมีนิสัยรักการออม ซึ่งหากหันกลับไปมองดูแล้ว สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลต้องเป็นแกนนำ ในเรื่องนี้ต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้ 31 ตุลาคม ประเทศไทยได้ประกาศให้วันนี้เป็นอีกวันสำคัญนั่นคือ วันออมแห่งชาติ ที่ประกาศอย่างเป็นทางการตามมติรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541

“เป้าหมายสำคัญคือ ให้คนไทยเริ่มออม และเมื่อเวลาผ่านมากว่า 15 ปี คงไม่ต้องถามกันว่า มีคนไทยสักกี่คนที่รู้จักวันออมแห่งชาติ ที่รัฐบาลประกาศให้เป็น “วันออมแห่งชาติ” นั้น ก็ยังไม่เห็นมีประชาชนคนไทยรับรู้เลย อย่างนี้เป็นต้น หากแต่วันนี้มิติของปัญหายังไม่ได้รับการคลี่คลาย แต่พัฒนาความเข้มข้นของปัญหาไปอีกขั้นทวีความรุนแรง และน่าเป็นห่วง”

***ME by TMB เปิดแนวคิด “ออมก่อน รวยกว่า”

น.ส.รัชดา เสริมศิลปกุล ผู้อำนวยการการตลาดและการขาย ME by TMB กล่าวถึงกิจกรรม National Savings Day by ME ว่า มองเห็นเทรนด์ และเห็นความสำคัญของการออมของคนไทยลดลง หน่วยงานภาคเอกชนสถาบันการเงินแห่งแรกที่ต้องจุดพลังความคิด เห็นความสำคัญของการออม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีนิสัยรักการออม และต่อยอดเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าสูงขึ้นได้ ซึ่งการออมเงินถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน เพราะการมีเงินออมนอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงส่วนบุคคลแล้ว ยังถือเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ เพราะประเทศที่มีปริมาณเงินออมสูงจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว สามารถนำเงินออมที่มีเป็นทุนในการพัฒนาประเทศ ลดการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

“แม้ทุกคนจะรู้ว่าการออมเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่จากสถิติการออมของคนไทยกลับพบสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง คือ ในปัจจุบันมีคนไทยเพียงร้อยละ 72.16 เท่านั้นที่มีการเก็บออมเงิน ในขณะที่อีกร้อยละ 27.84 ไม่มีเงินออม และเมื่อพิจารณาข้อมูลเชิงลึก จะพบว่า เป้าหมายการเก็บออมของคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของบัญชีฉุกเฉิน หรือบัญชีเงินเก็บระยะสั้น มากกว่าการเก็บออมเพื่อการใช้หลังเกษียณ รวมถึงคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักวิธีการบริหารเงินออม โดยพบว่าคนส่วนใหญ่จะนำเงินออมไปฝากไว้ในบัญชี หรือผลิตภัณฑ์การเงินที่ไม่ได้ทำให้เงินออมนั้นงอกเงย แนวคิดที่ว่า ออมก่อน รวยก่อน ในยุคนี้อาจจะยังไม่พอ ต้องเปลี่ยนใหม่ เป็น “ออมก่อน รวยกว่า” ดังนั้น ถือเป็นสิ่งที่ต้องเร่งให้ความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการออม และการบริหารเงินของคนไทย” น.ส.รัชดากล่าว

ก่อนหน้านี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความเป็นห่วง และความกังวลต่อภาคครัวเรือนไทยที่ขาดวินัยทางการเงิน และขาดภูมิคุ้มกันจากอัตราการขอสินเชื่อ หรือก่อหนี้ที่ขยายตัวสูงขึ้น โดยช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า อัตราการกู้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงถึง 79% และภายในสิ้นปีมีโอกาสขยับสูงถึง 80% ซึ่งสวนทางกับสัดส่วนการออมต่อรายได้ที่ลดลงต่อเนื่องในระยะ 20 ปี ปี 2553 มีสัดส่วน 11.3% และเหลือ 9.2% ในปี 2554 ถึงปัจจุบัน ซึ่งในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงของการชำระหนี้ยิ่งส่งผลต่ออัตราการออมและการใช้ชีวิตในวัยเกษียณอันจะนำไปสู่วิกฤติปัญหาทางสังคมเกิดปัญหาว่างงาน อาชญากรรมในอนาคต

“สังคมไทยมีภูมิคุ้มกันต่ำ เห็นได้จาก 1 คน มีภาระหนี้ 60% ดังนั้น ครัวเรือนต้องเพิ่มรายได้ ลดการจ่ายที่จะนำไปสู่การก่อหนี้ระยะสั้น ขณะที่ภาครัฐต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่สนับสนุนให้ประชาชนก่อหนี้ทั้งใน และนอกระบบ การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องทำอย่างรอบคอบ ไม่บั่นทอนวินัยทางการเงิน และการคลัง”
กำลังโหลดความคิดเห็น