บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ เตรียมขออนุมัติเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้น 8.5 พันลบ. โดยแบ่งขาย RO จำนวน 2 พันลบ. ขาย PP 2.3 พันล้าน และ CK 4.2 พันลบ. เพื่อเร่งเดินหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสีน้ำเงิน และเสริมสภาพคล่องมากขึ้น ไม่หวั่น รฟม.ล้มโต๊ะเจรจาหากต้องการลดสัดส่วนถือครองหุ้นยกให้กลุ่ม ช.การช่าง ขึ้นอันดับ 1 แทน
นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL กล่าวว่า จากการลงมติที่ประชุมของคณะกรรมการของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มทุน จำนวน 8,550 ล้านบาทครั้งล่าสุดนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขโจทย์ทางโครงสร้างการเงิน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งและสภาพคล่องของบริษัทให้มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยจะให้การพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใน 2 เส้นทางคือ สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงให้มีความรวดเร็วมากขึ้น โดยในระยะกลาง และระยะยาวเมื่อถึงจุดคุ้มทุน ผลประกอบการของบริษัทจะทยอยดีขึ้นตามลำดับ
ขณะเดียวกัน การประกาศเพิ่มทุนของ BMCL จำนวน 8,550 ล้านบาท เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการขยายตัวของธุรกิจ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ถือสัดส่วนหุ้น 25% บมจ.ช.การช่าง หรือ CK ถือหุ้นในอัตราสัดส่วน 24.61% ซึ่งถ้าหากการประชุมลงมติผู้ถือหุ้นในวันที่จันทร์ที่ 11 พ.ย. นี้เพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 11,950 ล้านบาท เพิ่มใหม่เป็น 20,500 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ในสัดส่วน 5.975 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ โดยหุ้นใหม่มีราคาที่ตราไว้ที่ 1 บาท เป็นจำนวน 2,000 ล้านบาท โดยนอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เตรียมขายหุ้นแบบ PP ให้แก่สถาบันการเงิน 4 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาติ และธนาคารทหารไทย จำนวน 2,350 ล้านบาท และหาก รฟม. ไม่รับมติเห็นชอบในการประชุม บมจ.ช.การช่าง อาจจะรับซื้อหุ้นในส่วนของ รฟม. จำนวน 4,200 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหุ้นของ บมจ.ช.การช่าง ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 34.6% ซึ่งถ้าหาก รฟม.รับร่างมติจะเพิ่มไดลูชันเป็น 17% แต่ถ้าหากไม่รับจะปรับลดลงเหลือ 14%
“ถ้าหากปล่อยให้มีปัญหาไปเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบระยะยาว รฟม.ควรมองผลประโยชน์รวมของประเทศ ซึ่ง รฟม.เองนั้นเข้ามาถือหุ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ด้วยจำนวนเงิน 2,900 ล้านบาท ซึ่งต้องร่วมกันพัฒนา ไม่ใช่กีดกันไม่ให้ทำทั้งหมด เพราะต้องไม่ลืมว่าเอาเงินของประเทศชาติมาลงทุน ซึ่งเชื่อว่าในวาระการประชุมครั้งนี้ รฟม. จะไม่กล้าล้มโต๊ะการเจรจาครั้งนี้แน่นอน เพราะ รฟม.ถือหุ้นอยู่ถึง 25% ถ้าหากการเจรจาครั้งนี้ต้องล้มไปก็ไม่สามารถเดินรถต่อได้ จะเกิดผลกระทบต่อภาคการขนส่งมวลชนมหาศาล”
ทั้งนี้ จากที่ผ่านมาบริษัทฯ มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด (EBITDA) ปรับตัวเพิ่มมากขึ้นมาต่อเนื่องตลอด 3 ปี โดยคาดว่าในปีนี้รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 675.05 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ในส่วนของรายได้คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามแผนการเร่งทำการตลาดโฆษณาจากทั้งหมดที่มีอยู่ทั้งสิ้น 17 สถานี โดยมี 11 สถานีใช้พื้นที่เป็นเชิงพาณิชย์เพื่อการโฆษณาในรูปแบบดิจิตอล และ 4 สถานีที่จะปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์การค้าใต้ดิน โดยเตรียมที่จะเปิดที่สถานีแห่งใหม่คือ “โมโทร 9” ที่สถานีรถไฟฟ้าพระราม 9 เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้แก่บริษัทในอีกรูปแบบหนึ่ง และเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการเดินรถนอกเหนือจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โดยคาดว่าปีนี้บริษัทฯ จะมีรายได้จากการบริหารพื้นที่ขายโฆษณา การพื้นที่เช่าขายสินค้าในบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และเพิ่มระบบสื่อสาร 3G ที่ประมาณ 200 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 100 ล้านบาท ภายในปีหน้า
ขณะที่บริษัทฯ มีแผนการลงทุนซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 6 ขบวนที่ใช้ในเส้นทางสายสีน้ำเงินในส่วนต่อขยายซึ่งคาดว่าอาจจะต้องใช้วงเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท อย่างไรก็ดี บริษัทฯ อาจต้องรอสั่งซื้อพร้อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงจำนวนอีกจำนวน 21 ขบวน ซึ่งจากที่มีบริษัทที่ยื่นแบบ และราคามากว่า 5 ราย ขณะนี้พิจารณาแล้ว เหลือเพียง 2 รายโดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ จะใช้เวลา 2 ปีจึงจะมีการส่งมอบรถไฟฟ้าได้ โดยจะทำให้บริษัทฯ หยุดการขาดทุนจากการดำเนินงานหลักได้ ก่อนที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงจะเริ่มดำเนินการเดินรถในปี 2559 โดยปี 2555 บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 981 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มั่นใจว่าในแผนการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะสามารถเดินรถได้ก่อนกำหนดตามสัญญาที่ระบุไว้ว่า 1,200 วัน นับจากวันเซ็นสัญญากับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา หรือประมาณกลางปี 2559 โดยล่าสุด งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 73% ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จคาดว่าจะต้องเพิ่มบุคลากรเพื่อการเดินรถอีกไม่ต่ำกว่า 800 คน