วงการตลาดทุนเชื่อท้ายสุดสหรัฐฯขยายเพดานหนี้ได้ เพื่อหลบเลี่ยงวิกฤตร้ายแรงจนทำให้เศรษฐกิจโลกกลับเข้าสู่ภาวะชะลอตัว และมีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอันดับเครดิตประเทศรอบที่ 2 ประเมินตัวเลขเพดานหนี้เริ่มมีอัตราที่สูงขึ้นกว่า GDP เป็นชนวนสร้างความตึงเครียด และกดดันปรับลดวงเงิน QE เลื่อนไปชี้ชะตารอบธันวาคม ชี้หากไม่สำเร็จ โบรกเกอร์แนะนำหลีกเลี่ยงลงทุน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้อง Dollar Asset ชั่วคราว เหตุจะสร้างความผันผวนในตลาดโลก ส่วนหุ้นไทยเชื่อปรับตัวลดลงหนัก จาก P/E ที่กลับมาอยู่ในระดับสูง 15 เท่า เข้ามาผสม ไม่ควรเพิ่มหุ้นเข้าพอร์ต ทำได้เพียง Trading เก็งกำไรระยะสั้น และแม้หากขยายเพดานหนี้ได้ก็ไม่มีผลบวกต่อตลาดหุ้นมากนัก ขณะที่ทองคำระยะสั้นยังไรปัจจัยบวก คาดซึมยาว
ท้ายที่สุดหากไม่มีเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติมอะไรออกมา ปัญหาคาราคาซังของสหรัฐอเมริกาต่อข้อสรุปการขยายเพดานหนี้สาธารณะที่ชนระดับเพดานที่กฎหมายกำหนดอยู่ที่ 16.7 ล้านล้านเหรียญ จะต้องได้ทิศทางที่ชัดเจนในวันที่ 17ตุลาคมนี้ โดยหากสหรัฐฯ มีการผิดนัดชำระหนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่าจะสร้างความเสียหายต่อภาคธุรกิจ และครัวเรือนอย่างรุนแรงกว่าซับไพรม์ที่เกิดขึ้นในปี 2551 และหลังวันที่ 17 ต.ค. รัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่มีงบประมาณพอที่จะชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยประเมินว่า กระทรวงการคลัง จะมีเงินคงเหลือประมาณ 30,000 ล้านเหรียญ ขณะที่ค่าใช้จ่ายนั้นอยู่ที่ระดับ 100,000 ล้านเหรียญ/เดือน อีกทั้งมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกปรับลดอันดับเครดิตจนมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม และค่าเงินดอลลาร์ของประเทศ
ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ออกมาปลอบโยนนักลงทุนว่า ถึงจะอย่างไรเสียท้ายที่สุด สหรัฐฯ จะสามารถผ่านการขยายเพดานหนี้สาธารณะเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้ทันตามกำหนด ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบรับความเห็นดังกล่าวปรับตัวเพิ่มรอรับข่าวดีที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่รุนแรงของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ที่คุกรุ่นออกมาอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากการเจรจาต่อรองกันของเหล่าตัวแทนทั้ง 2 พรรคการเมือง เช่น กลุ่ม ส.ว. เพื่อหาทางผ่าทางตันที่ยืดเยื้อมากว่า 2 สัปดาห์ ยังคงไร้ข้อสรุปเช่นเดิม เริ่มทำให้นานาชาติกังวลว่า เศรษฐกิจโลกจะถูกหางเลขจากการผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอเมริกาไปด้วย
ทุกวันนี้ จากสถานการณ์ปิดทำการของหน่วยงานหลายแห่งของรัฐบาลกลาง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นมา เริ่มส่งผลต่อความเชื่อมั่นภายในประเทศคลอนแคลน และทำลายชื่อเสียงของอเมริกาในฐานะมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกปัญหาปิดหน่วยงานรัฐบาลกลางอันยืดเยื้อ เริ่มสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน
แต่กระนั้น อเมริกันชน และทั่วโลกยังอาจคาดหวังได้ว่า คองเกรสจะตกลงกันได้ในนาทีสุดท้าย เช่นเดียวกับวิกฤตเพดานหนี้ครั้งที่แล้วในปี 2554 ที่มีการตกลงกันในคืนวันที่ 31 กรกฎาคม และสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายในวันรุ่งขึ้นแล้วส่งต่อให้สภาสูงรับรองในวันถัดมา โดยโอบามา ลงนามรับรองบังคับใช้เป็นกฎหมายหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง
ล่าสุด คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ เร่งปรับเพิ่มเพดานหนี้ก่อนถึงกำหนดเส้นตายหนี้ชนเพดานใน 17 ต.ค.นี้ เพราะหากมีปัญหาหยุดชะงัก ขาดความแน่นอน และขาดความไว้วางใจในสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงไปทั่วโลก ซึ่งเสี่ยงทำให้โลกกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง เช่นเดียวกับ นายจิม ยัง คิม ประธานธนาคารโลก ที่ออกมาเตือนด้วยว่า หากสหรัฐฯ ไม่เพิ่มเพดานหนี้อาจสร้างหายนะที่กระทบต่อเศรษฐกิจของชาติกำลังพัฒนา และย้อนกลับไปกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติพัฒนาแล้วด้วยเช่นกัน
พร้อมกันนี้ ไอเอ็มเอฟ ได้หั่นคาดการณ์การเติบโตของสหรัฐฯ เหลือ 1.6% ปีนี้ และ 2.6% ในปี 2557 โดยตัวเลขดังกล่าวลดลงจากการคาดการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 0.1% และ 0.2% ตามลำดับ
สำหรับภาพรวมที่จะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยนั้น หลายฝ่ายมองว่าเมื่อภาพทางการคลัง และเศรษฐกิจเช่นนี้ จะกดดันธนาคารกลางหสรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจได้ลำบากในเรื่องมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณ (QE) จึงมีความเป็นไปได้ว่า การลด QE อาจจะต้องถูกเลื่อนออกไปอีก หรืออาจจะต้องอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มเข้าสู่ระบบด้วยซ้ำ หากเศรษฐกิจกลับมาตกอยู่ในภาวะถดถอย ทำให้ในภาพรวมเห็นได้ชัดเลยว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในภาวะอ่อนแรง
ขณะที่ประเทศไทย จากแนวโน้มที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2557 อาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม กลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ประกอบการไทยที่จะต้องเตรียมตัวรับมือต่อความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในทุกตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดเงิน ตลาดทุน และค่าเงิน
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผอ.ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน)ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า หากสหรัฐฯ ไม่สามารถขยายเพดานหนี้ได้ ผลเสียที่จะตามมามีเยอะมาก เพราะงบประมาณรายจ่ายที่ทำไว้จะมีปัญหา เพราะเป็นงบประมาณแบบขาดดุล ถ้าไม่สามารถก่อหนี้ได้ การที่จะทำตามงบประมาณนั้น กไม่สามารถที่จะทำได้
ประการที่สอง ขีดความสามารถในการชำระหนี้คืน รอบวาระจ่ายคืนพันธบัตรในรอบที่ 1 ถ้าไม่สามารถจ่ายคืนได้ ผลที่จะตามมาคือ อันดับความน่าเชื่อถือจะยังคงรักษาระดับความน่าเชื่อถือในระดับนี้ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน จากก่อนหน้านี้ ได้ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงมาแล้วครั้งหนึ่งแล้วโดยสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ หรือ S&P เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 จากระดับ AAA ลดลงมาเหลือเพียง AA+ ซึ่งครั้งก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอีกครั้ง
นอกจากนี้ การปรับเพดานหนี้ครั้งนี้มีข้อที่แตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มา คือ ในอดีตการปรับเพดานหนี้จะไม่สูงกว่า GDP จนกระทั่งการปรับเพิ่มเพดานหนี้ 2 ครั้งล่าสุด ในรัฐบาลนายบารัค โอบามา ซึ่งตัวเลขเพดานหนี้เริ่มมีอัตราที่สูงขึ้นกว่า GDP เพราะฉะนั้น จึงกลายเป็นสถานการณ์ที่ตึงเครียด อีกทั้งการปรับขึ้นแบบเฉลี่ยนั้นก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก
“ถือเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องระวัง และจับตา อีกประการหนึ่งคือ การปรับทิศทางของเม็ดเงินลงทุนที่จะต้องหลีกเลี่ยงในเรื่องของ Dollar Asset เป็นการชั่วคราว เพราะจะสร้างความผันผวนในตลาดโลกพอสมควร ลองดูภาพง่ายๆ จากการปรับลดความน่าเชื่อถือ จากการรวบรวมสถิติตัวเลขล่าสุด พบว่า ในการปรับลดลงครั้งที่แล้ว ซึ่ง 10 วันก่อนที่จะมีการปรับลดอันดับเครดิต กระแสเงินบาทอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง และดัชนีดาวโจนส์ลดลงถึง 10% และต่อมา ในวันที่ประกาศจริงส่งผลให้ดัชนีในตลาดหุ้นดาวโจนส์ลดลงอีก 5.5% ต่อมาหลังจากนั้นอีก 2 เดือนเศษดัชนีแกว่งตัวผันผวนโดยรวมแล้ว ดาวโจนส์ลดลงสุทธิกว่า 7% และหากนับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดการปรับเพดานหนี้ประมาณ 3 เดือน ลดลงไม่ต่ำกว่า 22.5% ส่วนตลาดหุ้นไทยก็ได้รับผลกระทบปรับตัวลดลงตามไปด้วยกว่า 20% เช่นกัน”
แต่ในท้ายที่สุดแล้วเชื่อว่าทั้งสองพรรคก็ต้องจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้ เพราะถ้าไม่ได้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง
“การผันผวนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มาจากภาคการเงิน อะไรก็ตามที่ต้องเป็นการเจรจางานข้ามสกุลเงินต่างๆ หรืออุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาสภาพคล่องสูง จะเกิดความผันผวนที่สูงมาก”
กลยุทธ์การลงทุนหลังวันที่ 17 ตุลาคม
ผอ.ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวถึงสถานการณ์ลงทุนหลัง 17 ตุลาคมว่า เป็นเรื่องที่พยากรณ์ลำบาก เนื่องจากต้องรอดูผลก่อน เพราะถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ แต่ถ้าหากมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทยขณะนี้ ค่า P/E ของไทยสูงเกิน 15 เท่าขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ทำให้นักลงทุนต้องระมัดระวัง ซึ่งหากพิจารณาภาพความเสี่ยงเป็นกรอบ P/E ที่สูง และกรอบการปรับตัวอยู่ในสัดส่วนที่จำกัด ทำให้มองราคาหุ้น ณ ขณะนี้พอร์ตหลักคงยังไม่แนะนำให้เพิ่มน้ำหนัก เพียงแต่ว่าถ้าจะเข้าลงทุนต้องเป็นในลักษณะการเก็งกำไรไป
ในทางกลับกัน ถ้าหากขยายเพดานหนี้ได้เชื่อว่าถึงจะไม่ส่งผลบวกต่อภาพรวมตลาดหุ้นมากนัก เพราะการขยายเพดานหนี้หมายความว่าเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ สามารถเปิดทางกู้หนี้ต่อขึ้นไปได้อีก และถ้ายังทำงบประมาณขาดดุลแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาจจะต้องขยายเพดานหนี้ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าหากเลื่อนปัญหาครั้งนี้ไปก็จะไปสร้างปัญหาให้ในครั้งหน้าแทน
“อีกอย่างหนึ่งตลาดหุ้นไทยตั้งแต่มีข่าวการปรับเพดานหนี้สหรัฐฯ ออกมา ยังไม่มีการปรับตัวลดลงมา อาจจะมีการปรับลดลงมาบ้างแค่ช่วงเวลาสั้นๆ และดีดตัวกลับขึ้นไป เพราะฉะนั้น จึงมองว่าไม่ได้เป็นบวกอะไร ดังนั้น กลยุทธ์ลงทุนในไตรมาส 4 จุดเดียวที่จะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนคือ ค่า P/E ไม่ควรเกิน 14 เท่า ซึ่งควรเพิ่มน้ำหนักในพอร์ตหลักที่บริเวณต่ำกว่า 1,380 จุดลงมา แต่ถ้านักลงทุนต้องการลงทุนขณะนี้ แนะนำได้เพียงแค่ Trading เท่านั้น คือถ้าเข้าไปซื้อแล้ว และสร้างเป้าหมายการทำกำไรให้ชัดเจน และถ้าปิดปรับลดลงก็ต้องกล้าที่จะตัดขาดทุนออกมา"
สำหรับปัจจัยภายในประเทศประเด็นหลักคือ พ.ร.บ.เงินกู้โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรายมาตราถัดไป เช่น 68 หรือ 237 และมาตรการโดยรวมทางการเงินอื่นๆ
ส่วนของปัจจัยต่างประเทศนั้นยังคงมาจากความกังวลมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ในเดือนธันวาคม คาดว่าตัวเลขการลงทุนจะยังคงผันผวนต่อไปเรื่อยๆ และเป็นรอยต่อจากการเปลี่ยนประธานเฟดคนใหม่ จึงมองว่าจะยังคงไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงจนกว่าประธานเฟดคนใหม่จะเข้ามารับตำแหน่ง และทำหน้าที่ตัดสินใจในรอบการประชุมเดือนธันวาคมนี้
ทองคำไร้ปัจจัยบวกในระยะสั้น
ขณะเดียวกัน ในส่วนของการลงทุนทองคำ สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก ให้ความเห็นว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าสหรัฐฯ จะตกลงขยายเพดานหนี้ได้ทันเวลาก่อนที่จะผิดนัดชำระ และอาจกระทบต่อเครดิตความน่าเชื่อถือของตัวสหรัฐฯ เอง ทำให้มุมมองราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยยิ่งน้อยลงไปจนราคาเป้าหมายราคาทองคำในปี 2557 ที่บรรดาสถาบันการเงินชื่อดังประกาศออกมาต่ำลงจากการปรับครั้งก่อนหน้ามากมาย ซึ่งบางแห่งปรับลงเหลือต่ำกว่า 1,000 เหรียญ/ออนซ์
“นักเก็งกำไรทองคำควรชะลอการซื้อไว้สักระยะ เนื่องจากปัจจัยบวกในทองคำยังไม่มีในระยะสั้นๆ นี้ และหากดูกราฟราคา ราคามีโอกาสลงได้ถึง 1,150-1,180 เหรียญ/ออนซ์ได้ โดยปัจจัยที่อาจทำให้ราคาทองคำกลับตัวเป็นขาขึ้นอีกทีนั้นคงต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน ซึ่งประเด็นที่พอจะทำให้ราคาเป็นขาขึ้นใหญ่จะมีเพียงปัญหาอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้อย่างน้อยๆ 3-5 ปี ทองคำแน่นอนว่าระยะยาวยังไงก็ขึ้น แต่กว่าจะขึ้นกลับไปที่ 1,920 เหรียญ/ออนซ์ หรือจุดสูงสุดที่เคยทำไว้เมื่อปี 2554 นั้น คงอาจต้องรออีกครึ่งทศวรรษถึงจะมีลุ้น”