ธปท. เตรียมนำร่องเคลือบแบงก์ 20 บาท เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น คาดทดลองใช้ได้ในปี 57 เผยหากทำแล้วประสบความสำเร็จ อาจพัฒนาไปเคลือบธนบัตรชนิดอื่นต่อไป
นายปริยวัจน์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างศึกษาการเคลือบธนบัตรชนิดราคา 20 บาท เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานให้มากขึ้น จากเดิมที่ใช้ได้เพียง 13 เดือน ซึ่งธนบัตรดังกล่าวถูกพิมพ์และกระจายเข้าสู่ระบบปีละ 1,200 ล้านฉบับ หรือคิดเป็นมูลค่า 24,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองใช้ได้ในปี 2557 รวมถึงจะมีการแบ่งโซนการใช้ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบธนบัตร และหากได้ผล อาจพัฒนาไปเคลือบธนบัตรชนิดอื่นๆ อีกด้วย
ดังนั้น สายออกบัตร ธปท. เตรียมนำธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ที่พิมพ์เสร็จแล้วมาเคลือบบางๆ เพื่อป้องกันสิ่งสกปรก แม้จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบต้นทุนแล้วสามารถยืดอายุได้ตามต้นทุน ก็ถือว่าคุ้ม โดยยืนยันว่าลักษณะดังกล่าวจะแตกต่างกับธนบัตรชนิดราคา 50 บาทรุ่นเก่า ที่เป็นแบบโพลิเมอร์ รวมทั้งในต่างประเทศก็มีการเคลือบธนบัตร เช่น เงินยูโรชนิดราคาต่ำ โดยจะทดลองใช้จริงปี 2557 เบื้องต้นการดำเนินงานดังกล่าวได้ทำร่วมกับเอกชน หากได้ผลคาดว่าจะซื้อเครื่องมาดำเนินการเอง
ทั้งนี้ ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท มีอยู่ในตลาดจำนวนมาก ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จ จะช่วยลดต้นทุนให้กับ ธปท.ในการพิมพ์ธนบัตรได้ในระยะยาว ขณะที่การพิมพ์ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท เพื่อรองรับการใช้จ่ายหลังปรับค่าทางด่วนนั้น ยังไม่มีการเพิ่มปริมาณการพิมพ์ เนื่องจากข้อมูลพบว่า ธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีการซื้อ หรือเบิกเพิ่มขึ้น ส่วนนโยบายการพิมพ์ธนบัตร ยังไม่ใช่การพิมพ์ธนบัตรออกใช้ แต่จะพิมพ์ในรูปแบบเป็นที่ระลึก เพื่อให้ประชาชนเก็บสะสมมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยอดผลิตธนบัตรของไทยเติบโตปีละ 5-6% สูงกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตธนบัตรของโลกที่ 4% ซึ่งความต้องการใช้ธนบัตรในประเทศเพิ่มขึ้นตามเทศกาลต่างๆ ทั้งปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ และจะเป็นอย่างนี้ทุกปี เนื่องจากความต้องใช้เงินสดยังมีอยู่ และแนวโน้มการใช้ธนบัตรยังไม่ลดลง ส่วนสถานการณ์ธนบัตรปลอมในขณะนี้มีแนวโน้มลดลง เนื่องจาก ธปท.ได้ให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้น