ศูนย์วิจัยทองคำ เผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือน ต.ค. ทรุดตัวลง แนะลงทุนระยะสั้น สะท้อนนักลงทุน และผู้ค้าในประเทศเริ่มมีทัศนคติเชิงลบ หลังปัจจัยเสี่ยง ศก.สหรัฐฯ ยังไม่คลี่คลาย และค่าเงินบาทที่ผันผวน แนะรอความชัดเจนเพดานหนี้สหรัฐฯ
นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ (Gold Price Sentiment Index) ชะลอตัวลงต่ำกว่าระดับ 50 จุด อยู่ที่ระดับ 46.71 จุด โดยลดลงจากเดือนกันยายน 17.28 จุด ปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าจะกระทบต่อราคาทองคำระหว่างเดือน 55.18% ได้แก่ เรื่องความผันผวนของค่าเงินบาท 48.01% ประเด็นการชะลอ QE และ 42.23% คือประเด็นปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะ 3 เดือนสอดคล้องกันที่สะท้อนทัศนคติเชิงลบ โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 48.26 จุด ลดลงจากการจัดทำในเดือนกันยายน 18.82 จุด สำหรับคำถามว่านักลงทุนจะซื้อทองคำในช่วงหนึ่งเดือนข้างหน้าหรือไม่ พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 36.33% จะซื้อทองคำในช่วงหนึ่งเดือนข้างหน้า กลุ่มตัวอย่าง 40.32% คิดว่าจะยังไม่ซื้อทองคำ และ 23.35% ยังไม่แน่ใจว่าจะซื้อหรือไม่ ซึ่งลักษณะพฤติกรรมสอดคล้องกับค่าดัชนีที่มีมุมมองเชิงลบทำให้มีน้ำหนักของกลุ่มที่เชื่อว่าจะยังไม่ซื้อทองคำในช่วงหนึ่งเดือนในสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มที่คิดว่าจะซื้อ
“ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ผู้ประกอบการแนะนำให้ลงทุนระยะสั้นเพราะยังมีความผันผวนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเงินบาทที่ผันผวนตาม ซึ่งคาดว่าสหรัฐฯ น่าจะผ่านปัญหาเพดานหนี้ไปได้ โดยหากผ่านแบบไม่มีเงื่อนไขทองคำจะลง และเงินบาทอาจอ่อนค่า และสหรัฐฯ ไม่น่าจะลดคิวอี เมื่อเป็นภาพรวมแล้ว ราคาทองคำปีหน้าก็คาดว่าราคาจะต่ำกว่าราคาเฉลี่ยปีนี้” นายกมลธัญกล่าว
นายภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ เปิดเผยบทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) ที่รวบรวมตัวอย่างจากผู้ค้าส่งทองคำรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 11 ตัวอย่าง เชื่อว่า ราคาทองคำในตลาดโลกช่วงเดือนตุลาคมโดยรวมน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,200-1,440 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่ากรอบราคาต่ำสุดในเดือนตุลาคมน่าจะอยู่ในช่วง 1,260-1,280 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่กรอบสูงสุดน่าจะอยู่ในกรอบ 1,380-1,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยล่าสุด วันนี้ราคาทองคำเคลื่อนไหวประมาณ 1,315-1,316 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนเงินบาทเคลื่อนไหว 31.30 บาทต่อดอลลาร์
ส่วนราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 96.5%) กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าราคาจะเคลื่อนไหวระหว่าง 18,200-20,900 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดกลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักระหว่าง 18,800-19,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และมีกรอบการเคลื่อนไหวสูงสุดบริเวณ 20,600-20,900 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ โดยมีประเด็นเรื่องเพดานหนี้สหรัฐฯ เป็นประเด็นสำคัญที่อาจจะกำหนดทิศทางของราคาทองคำในช่วงท้ายของปี นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าทิศทางของค่าเงินบาทน่าจะยังผันผวนในช่วงไตรมาส 4 ต่อเนื่องจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญ
สำหรับการพิจารณาผลกระทบของสถานการณ์ Government Shutdown หรือการปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานรัฐของประเทศสหรัฐฯ เกิดเหตุการดังกล่าวในช่วงปี ค.ศ.1976-1996 จำนวน 17 ครั้งพบว่า โดยทั่วไปไม่มีความสัมพันธ์ต่อราคาทองคำไปในทิศทางใดทั้งในช่วงของการปิดทำการ หลังจากเปิดทำการในช่วงสัปดาห์แรก และหลังจากเปิดทำการในช่วง 1 เดือนแรก แต่ที่น่าสังเกตคือ ในกรณีที่มีการปิดหน่วยงานรัฐเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไปพบว่าราคาทองคำมักจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในช่วงของการปิดทำการ หลังจากเปิดทำการในช่วงสัปดาห์แรก นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วงของการหาข้อตกลงไม่ว่าสภาล่าง (house) และสภาสูง (senate) จะเป็นพรรคเดียวกันหรือไม่ ไม่มีผลต่อระยะเวลาของการปิดทำการ และไม่กระทบต่อราคาทองคำเช่นกัน