สมาคมไทยรับสร้างบ้าน แจงความต้องการสร้างบ้านใหม่ครึ่งปีหลัง ทั้งปริมาณ และมูลค่าขยายตัวดีกว่า 2 ไตรมาสแรก ยันเหตุผู้ประกอบการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โหมกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคอย่างพร้อมเพรียง หวังปั้นยอดขายให้เข้าเป้า
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า จากการประเมินปริมาณ และมูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ยอดขายบ้านรวมเฉพาะในกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ เติบโตกว่า 40% โดยการแยกสัดส่วนยอดขายบ้านเป็นรายภูมิภาค พบว่า พื้นที่ภาคกลางมีสัดส่วนยอดขายเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็น 32% อันดับที่ 2 ภาคอีสาน มีสัดส่วนยอดขาย 25% อันดับที่ 3 ภาคใต้ 21% และภาคเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสัดส่วนยอดขาย 14% และ 8% ตามลำดับ
ทั้งนี้ หากแยกพิจารณาโดยแบ่งเป็นตลาดรับสร้างบ้าน กทม.และปริมณฑล : ต่างจังหวัด พบว่า สัดส่วนมูลค่าตลาด กทม.และปริมณฑล คิดเป็น 8% และมูลค่าตลาดต่างจังหวัดคิดเป็น 92% ซึ่งข้อมูลสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า แนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านขยายตัวไปในทิศทางใด
ครึ่งปีหลังผู้ประกอบการอัดแคมเปญแข่งดุ
สำหรับภาพรวม และทิศทางการแข่งขันในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการมีการจัดแคมเปญ และโปรโมชันออกมากระตุ้นกำลังซื้อกันอย่างคึกคัก ซึ่งมีทั้งแคมเปญมอบส่วนลด ของแถม และจับรางวัล นับเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่บริษัทรับสร้างบ้านมีการแข่งขันกันรุนแรง โดยบางรายสามารถให้ส่วนลดสูงสุด 20-25% ทั้งนี้ เวทีการแข่งขันในไตรมาส 3 ของกลุ่มผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังคงเป็นการจัดกิจกรรมการตลาดผ่านอีเวนต์มาร์เกตติ้งเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ปีนี้พบว่ากำลังซื้อผู้บริโภคค่อนข้างกระจุกตัว หรือตัดสินใจเลือกสร้างบ้านกับผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียง และมีความน่าเชื่อถือเป็นสำคัญ โดยสมาคมฯ ประเมินว่าบริษัทรับสร้างบ้านในกลุ่ม Top 5 น่าจะมีแชร์ส่วนแบ่งกว่า 40% จากมูลค่าตลาดรวม ในขณะที่มีบริษัทรับสร้างบ้านรายเล็กรายกลางที่แข่งขันอยู่ในตลาดรับสร้างบ้านรวมๆ กันแล้วเกือบ 100 ราย
ทั้งนี้ ผลสำรวจของสมาคมฯ เกี่ยวกับโปรโมชันที่ผู้ประกอบการนำเสนอ และได้รับความนิยมสูงสุดคือ อันดับแรก ส่วนลดเงินสด คิดเป็น 48% อันดับที่ 2 เครื่องปรับอากาศ คิดเป็น 18% และอันดับ 3 สมาร์ทโฟน คิดเป็น 12% อันดับ 4 จับรางวัลรถยนต์ คิดเป็น 9% และ อื่นๆ 13% อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคที่ตอบแบบสอบถามยังคงพิจารณาตัวผู้ประกอบการเป็นองค์ประกอบสำคัญก่อน โดยหลักๆ จะพิจารณาจาก 1.ความรับผิดชอบและผลงานที่ผ่านมา 2.ไม่เคยถูกผู้บริโภคร้องเรียน หรือถูกร้องเรียนน้อยที่สุด และ 3.สามารถให้บริการสร้างบ้านในพื้นที่ต่างจังหวัด หรือมีสาขาต่างจังหวัด ฯลฯ เป็นต้น
คาด 3 เดือนสุดท้ายรายใหญ่โหมตลาด กทม.-ตจว.สุดตัว
สำหรับในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปีนี้ คาดการณ์ว่าบริษัทรับสร้างบ้านในกลุ่ม Top 5 จะยังรุกทำตลาดทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งตลาดต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นเพราะต้องการทำตลาด และเร่งตัวเลขยอดขายให้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ในปีนี้ โดยสมาคมฯ มีการรวบรวมตัวเลขเป้ายอดขายรวมของบริษัทรับสร้างบ้าน Top 5 กลุ่มนี้พบว่า มีมูลค่าที่ตั้งเป้าไว้สูงถึง 4,000-4,500 ล้านบาท ในขณะที่สมาคมฯ ประเมินมูลค่ารวมตลาดรับสร้างบ้านปีนี้ไว้ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาทเศษ
นายสิทธิพร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายกลาง และใหญ่ อย่างเช่น เอสซีจีไฮม์ และอีก 2-3 รายที่แตกไลน์มาจากผู้ผลิต และจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง สามารถแชร์ส่วนแบ่งตลาดรับสร้างบ้านได้อีกกว่า 1,000 ล้านบาท (ไม่นับมูลค่ารับสร้างบ้านให้โครงการบ้านจัดสรร) ดังนั้น หากประเมินตัวเลขยอดขายและรายได้ของผู้ประกอบการรายกลางรายเล็ก ที่แข่งขันทำการตลาดกันอยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้านเกือบ 100 ราย เฉลี่ยแล้วจะมีส่วนแบ่งตลาด หรือยอดขายประมาณ 50-70 ล้านบาทต่อรายต่อปี
อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางชะลอตัว แต่สมาคมฯ ประเมินว่า ผู้บริโภค และประชาชนยังมีความต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ ทั้งนี้ เพราะตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัดยังมีกำลังซื้ออยู่จำนวนมาก เพียงแต่ผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้ โดยเฉพาะกลุ่ม Top 5 ควรหันมาทำตลาด และให้บริการรับสร้างบ้านในต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มตัวเลขยอดขายให้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ และจะส่งผลให้ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านปีนี้เติบโตทะลุตัวเลขสองหลักในรอบ 5 ปี
“ผู้ประกอบการที่จะขยายการให้บริการออกไปยังต่างจังหวัดควรเปิดสำนักงานสาขา และมีทีมงานอยู่ประจำในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ หรือจังหวัดใกล้เคียงระยะทางไม่เกิน 100 กิโลเมตร ทั้งนี้ เพราะจากข้อมูลที่สมาคมฯ รวบรวมไว้พบว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้ประกอบการที่เกิดขึ้น และนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกันนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากตัวแทน และผู้ประกอบการรับสร้างบ้านเองไม่สามารถดูแล และควบคุมงานก่อสร้างได้อย่างใกล้ชิด”
นายสิทธิพร กล่าวอีกว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ดูจะไม่สดใส หรืออยู่ในภาวะชะลอตัว กอปรกับภัยธรรมชาติ หรือปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นนั้น ยอมรับว่าเป็นปัจจัยรบกวนการขยายตลาดรับสร้างบ้านในปีนี้พอสมควร แต่โดยภาพรวมตลาดรับสร้างบ้าน และยอดขายบ้านในกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ ทั่วประเทศในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมานั้น ยังจัดว่ามีการขยายตัวเป็นที่น่าพอใจ นัยสำคัญๆ ที่ทำให้มูลค่าตลาดรับสร้างบ้านเติบโตเป็นผลมาจากการเลือกที่ขยายสู่ตลาดบลูโอเชียน และเปิดตลาดใหม่ๆ ในต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ประกอบการเองสามารถสร้างการรับรู้ และเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น จนสามารถเพิ่มแชร์ส่วนแบ่งตลาด หรือรองรับกำลังซื้อใหม่ๆ ได้ทั่วประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม่มีผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายใดสนใจที่จะเข้าถึงผู้บริโภค หรือกำลังซื้อต่างจังหวัดกลุ่มใหญ่นี้
อย่างไรก็ดี สมาคมฯ ประเมินว่า ปริมาณและมูลค่าบ้านสร้างเองประเภทบ้านเดี่ยวทั่วประเทศในปี 2556 นี้ มีจำนวนกว่า 8 หมื่นหน่วย โดยแบ่งออกเป็น กทม.และปริมณฑล ประมาณเกือบ 2 หมื่นหน่วย และต่างจังหวัดประมาณ 6 หมื่นหน่วยเศษ โดยกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจปีนี้ คาดว่าจะมีแชร์ส่วนแบ่งทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัดเพียง 3,800-4,000 หน่วย ฉะนั้นโอกาสที่จะเพิ่มแชร์ส่วนแบ่งตลาดต่างจังหวัดจึงยังสดใส และน่าจะขยายตัวได้อีกมาก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของผู้ประกอบการเองว่าจะรองรับกำลังซื้อได้มากน้อยเพียงใด