“ทีเอ็มบี” รุกผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร จับมือเบทาโกร เปิดโครงการ “TMB Efficiency Improvement for Supply Chain” พัฒนาระบบ ลดต้นทุน ต่อยอดซัปพลาย เชน เผย 3 ปี ทุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ มีลูกค้าใหม่เข้ามาปีละ 5 แสนราย ยอดสูญเสียลูกค้าเอสเอ็มอีลดเหลือไม่ถึง 1% จากเดิม 5%
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)(TMB)กล่าวว่า ธนาคารได้เปิดตัวโครงการ “TMB Efficiency Improvement for Supply Chain” มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผู้ประกอบการ และยกระดับซัปพลาย เชน เปิดรุ่นที่ 1 สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร โดยร่วมมือกับเครือเบทาโกร ที่พร้อมแชร์ประสบการณ์และกรณีศึกษา เน้นการเรียนรู้จริง นำไปใช้ได้จริง เพิ่มประสิทธิภาพ เชื่อมโยงการพัฒนาแบบซัปพลายเชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
“สาเหตุที่ธนาคารเริ่มต้นที่อุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มีสัดส่วนจีดีพี 16.7% เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ หรือมีมูลค่าประมาณ 1.86 ล้านล้านบาท แต่ต้นทุนของอุตสาหกรรมอาหารสูงถึง 72% ดังนั้น ถ้าอุตสาหกรรมสามารถลดต้นทุนแค่เพียง 1% ก็จะสามารถประหยัดเงินได้ประมาณ 13,000 ล้านบาท หรือเพิ่มสัดส่วนจีดีพี 0.1% ซึ่งถือเป็นการเพิ่มประโยชน์ให้แก่ธุรกิจในวงกว้าง”
นายบุญทักษ์ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวจะรับสมัครผู้ประกอบการ 50 ราย ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าของธนาคารเท่านั้น และจะมีโครงการต่อเนื่องไปสู่อุตสาหกรรมอื่นด้วย โดยคาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นการช่วยเสริมศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการในการบริหารงาน นำไปสู่การลดต้นทุน และเพิ่มผลกำไรในที่สุด ซึ่งตรงนี้ธนาคารเองก็จะได้รับผลประโยชน์ในด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ลดลงด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนธนาคารเองได้นำหลักการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น และเพิ่มคุณภาพบริการให้ดีขึ้น อย่าง Lean Six Sigma เข้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบทั้งองค์กรตั้งแต่ปี 2553 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to income ratio) ของธนาคารลดลงประมาณ 22% พร้อมกันนั้น ก็มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง เช่น บริการ No-Slip ที่ธนาคารยกเลิกการกรอกใบสลิปที่ใช้ในการฝากถอนภายในสาขาของธนาคารเป็นธนาคารแรก เป็นต้น ซึ่งทำให้ลูกค้าสะดวกมากขึ้น
เผยทุ่มผลิตภัณฑ์ลูกค้าเพิ่มปีละ 3 แสนราย
นอกจากนี้ จากการที่ธนาคารได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง และตรงใจผู้ใช้บริการ ทำให้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3 แสนราย เป็นลูกค้าเอสเอ็มอี 6,000-10,000 ราย รายใหญ่ 500-600 ราย รวมทั้งลดจำนวนสูญเสียลูกค้าเอสเอ็มอีลงเหลือไม่ถึง 1% ต่อปี จากเดิมที่่อยู่ 5% ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินของธนาคารที่ตอบโจทย์ในการดำเนินธุรกิจของลูกค้าได้
สำหรับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจะส่งผลต่อการขยายตัวของสินเชื่อนั้น นายบุญทักษ์ กล่าวว่า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะเติบโตสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว