ผู้บริหารทีเอ็มบี ชี้เฟดคงวงเงิน QE ทำค่าบาทผันผวน เตือนผู้ประกอบการระมัดระวัง พร้อมจับมือไอเอฟซีออกโปรแกรม GTEP ค้ำประกันวงเงินให้ผู้ส่งออกขยายไปในตลาดเกิดใหม่
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB)กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกำหนดนโบายเศรษฐกิจ (เฟด) ยังไม่ปรับลดวงเงิน QE เพื่อรอดูความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ค่่าเงินบาทมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ผู้ที่ทำธุรกิจด้านส่งออก-นำเข้าควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากการเคลื่อนไหวจะรวดเร็วตามข่าวสาร
“เรื่องการลดวงเงิน QE นั้น จริงๆ แล้วนับเป็นข่าวดีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะดีขึ้น แล้วก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกดีตาม แต่ก็จะสร้างความผันผวนให้แก่เงินทุนไหลเข้า-ออก และค่าเงิน ในระยะสั้น ถ้ามีข่าวว่าจะลดวงเงิน QE เงินบาทก็อ่อนค่า หรือยังไม่ลดเงินบาทก็แข็งค่า ดังนั้น ผู้ประกอบการก็จะต้องระมัดระวังด้วย”
สำหรับสินเชื่อรวมของธนาคารในปีนี้นั้น ยังคงเป้าหมายอัตราการเติบโตเดิมที่ประมาณ 6% แม้หลายๆ ฝ่ายจะมีการปรับเป้าหมายจีดีพีลง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เติบโตได้ประมาณ 2-5% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทรงตัวในระดับ 3.7%
จับมือไอเอฟซีรับประกันส่งออก
ล่าสุด ทีเอ็มบี และบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) ร่วมป้องกันความเสี่ยงสำหรับผู้นำเข้า-ส่งออก สนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายธุรกิจ หรือเปิดตลาดใหม่ไปยังตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยการเข้าร่วมในโครงการ Global Trade Finance Program (GTFP) และเป็นแบงก์ไทยแห่งแรกที่เข้าร่วมโครงการนี้
ทั้งนี้ ทีเอ็มบีเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่ได้เข้าร่วมโครงการ GTFP กับไอเอฟซี ซี่งเป็นโครงการที่ช่วยให้ธนาคารสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ทางด้านการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ให้แก่ผู้นำเข้า-ส่งออกไทยที่สนใจทำธุรกิจในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยทีเอ็มบีมองว่าการนำเข้า-ส่งออกเป็นเฟืองจักรสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทดแทนตลาดในทวีปอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบกับกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ เช่น ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกามีการขยายตัวเร็วขึ้น การนำเข้า-ส่งออกของสินค้าไปยังประเทศในตลาดเกิดใหม่จึงมีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่จะทำธุรกรรมการค้าต่างประเทศในตลาดเกิดใหม่ อาจจะยังไม่มีความมั่นใจในตัวคู่ค้า และธนาคารในต่างประเทศของตลาดเกิดใหม่เหล่านั้น จึงอาจจะทำให้โอกาสในการขยายธุรกิจจึงเป็นไปอย่างจำกัด การบริการดังกล่าวซึ่งเสียค่าบริการ 0.50% ของวงเงินสินเชื่อ ซึ่งอยู่ในระดับไม่สูงนัก แต่เชื่อว่าจะทำให้ปริมาณการส่งออกมีปริมาณมากขึ้น
ขณะที่ไอเอฟซี เป็นองค์กรมีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ AAA และมีจำนวนธนาคารเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการนี้อยู่ในประเทศต่างๆ ครอบคลุม 100 ประเทศทั่วโลก หรือกว่า 250 ธนาคาร โดยทำหน้าที่เป็นผู้เข้ามาค้ำประกันการรับเงิน -จ่ายเงินของธนาคารในเครือข่ายดังกล่าว ทำให้การทำธุรกรรมการค้าต่างประเทศมีความน่าเชื่อถือที่สูงมากขึ้น