นักวิเคราะห์คาดปลายเดือน ต.ค.นี้ อาจมีแรงกดดันจากมาตรการ QE จ่อเข้าทุบตลาดหุ้นอีกรอบ พร้อมประเมิน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ถือว่ามีส่วนสัมพันธ์โดยตรงต่อ ศก. ที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีความขัดแย้งกับความรู้สึกในส่วนของนัยที่ซ่อนเร้น แนะลงทุนในหุ้นกลุ่มใหญ่ซึ่งมีสภาพคล่องสูง
นายกษมพนธ์ เหมนิลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี จำกัด กล่าวว่า ทั้งปัจจัยเรื่องมาตรการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 3 (QE3) ของสหรัฐฯ และร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นข่าวดีต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่ว แต่เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น สังเกตุจากการที่ดัชชีหุ้นไทยปรับตัวขานรับข่าวดีอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิดแรงเหวี่ยงเมื่อดัชนีไปถึง 1,500 จุดได้ แต่ พ.ร.บ.เงินกู้นั้นมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงต่อเศรษฐกิจที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีความขัดแย้งกับความรู้สึกในส่วนของนัยซ่อนเร้น
“มาตรการ QE ในระสั้นเป็นบวก เนื่องจากเงินที่ใหลออกไปก่อนหน้านี้กว่า 1 แสนล้านบาทที่เป็น เงินร้อน (Hot Money) จะไหลกลับเข้ามาลงทุนในประเทศอย่างรวดเร็ว และรุนแรง ซึ่งจะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะเฟดจะประชุม QE อีกครั้งในวันที่ 29-30 ตุลาคม ซึ่งจากที่นักวิเคราะห์หลายๆ คนได้วางกรอบเอาไว้ว่าอาจจะปรับลดวงเงิน 1-1.5 หมื่นล้านเหรียญ/เดือน ทำให้อาจจะเกิดความกังวลกลับมาอีกครั้ง จนทำมีแรงเทขายขนาดใหญ่ตามมาอีก”
ส่วน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น จะมีผลต่อตลาดหุ้นไทยโดยตรงทั้งบวก และลบที่รุนแรงกว่าตลาดในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน เพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีความโดดเด่นในสายตานักลงทุนต่างประเทศมาก เพราะมองว่าเป็นการลงทุนระยะยาว และจะสะท้อนภาพออกมาในทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี แต่ทั้งนี้ ยังมีในหลายส่วนของ พ.ร.บ.ที่ต้องย้อนกลับมาดูในรายละเอียด ซึ่งพรรคฝ่ายค้านอาจจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าว่าผิดเงื่อนไขอะไรหรือเปล่า ซึ่งถ้าหากว่าศาลตัดสินออกมาว่าผิดเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งจริง หุ้นก็จะสนองออกมาในทางลบอีกครั้งหนึ่ง
“มาตรการ QE ที่สะท้อนกลับมาอย่างรวดเร็วที่สุดในตอนนี้ คือ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหุ้นกลุ่มส่งออกจะได้รับผลกระทบโดยตรง และเกิดแรงเทขายออกมาในระยะสั้น เพราะฉะนั้นถ้ามองเจาะลึกเข้าไปในกลุ่มส่งออกที่คาดว่าเลวร้ายที่สุดแล้วอาจจะต้องแบกรับภาระจากผลกระทบของค่าเงินไปอีกอย่างน้อยจนกว่าเศรษฐกิจจะสมดุลมากขึ้น”
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มที่โดดเด่นในไตรมาสที่ 3-4 นี้ ได้แก่ หุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งได้รับการอุดหนุนตลาดป้องกันความเสี่ยงทางลงได้ในระดับหนึ่ง ถ้าหุ้นกลุ่มไอซีทีไม่แย่ และหุ้นกลุ่มธนาคารประกาศผลกำไรออกมาไม่เลวร้ายจนเกินไป อีกทั้งไตรมาสที่ 4 จะเป็นฤดูที่ฟากทวีปยุโรป และอเมริกาต้องการใช้เชื้อเพลิงมากกว่าปกติ
“บล.กรุงศรีนั้นยังคงเป้าดัชนีไว้เช่นเดิม โดยดัชนีหุ้นไทยอาจดีดตัวกลับไปสูงถึง 1,650 จุดก็ได้ แต่ยังไงแล้วฝ่ายค้านก็จะพยายามยื้อเวลา และยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้นานที่สุด ซึ่งจะเป็นจุดหักเหของตลาดหุ้นไทยที่สำคัญที่สุด ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นจากการคงมาตรการ QE นั้น ถ้าเงินบาทอยู่ในระดับ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะมีผลให้กลุ่มสินค้าส่งออกสะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้น และกดให้ผลประกอบการกำไรที่ได้น้อยลงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ถือว่าเลวร้ายทั้งหมด เพราะไตรมาสที่ 4 นั้นถือว่าเป็นช่วง High Season ของการส่งออก ซึ่งจะเข้ามาช่วยประคองธุรกิจไปได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า และความต้องการของตลาดว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน”
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำนักลงทุนพิจารณาในหุ้นกลุ่มใหญ่ ซึ่งมีสภาพคล่องสูง จากมุมมองของนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุน มักจะเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มใหญ่ เช่น ธนาคาร พลังงาน สื่อสาร ซึ่งถ้าหากพิจารณาตามมูลค่าของหุ้นต่อราคากลุ่มที่ถือได้ว่ามีราคาถูกในตอนนี้ คือ หุ้นกลุ่มพลังงาน รองลงมาจะเป็นหุ้นกลุ่มธนาคาร และกลุ่มเทคโนโลยีการสื่อสาร ทั้งนี้ กลุ่มที่จะแทรกขึ้นมาได้แก่ กลุ่มอาหาร กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มอสังหาฯ และรับเหมาก่อสร้าง จะมีบทบาทมากขึ้นจากอานิสงส์ต้นน้ำ และปลายน้ำของ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท