ผู้จัดการตลาดหุ้นไทยฟันธง พอร์ตโบรกฯ ไม่มีพลังมากพอหากคิดค่าเฉลี่ยเทรดไม่ถึง20% ของมูลค่ารวมตลาด อนาคตอาจปรับลดลงเงินลงไม่ให้เกิน 50% ส่วนความกังวล QE คาดตลาดหุ้นไทยไม่เลวร้ายเท่าเดือน พ.ค. เพราะปรับลดน้อย เทียบสัดส่วนยังมีสภาพคล่องสูง แม้ พ.ร.บ.2.2 ล้านล้านบ.ไม่ผ่าน กระทบตลาดทุนช่วงสั้น
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. กล่าวว่า จากกรณีการซื้อขายผันผวนที่ผิดปกติในช่วงเวลา 15.30-16.00 น. หรือแก๊ง 4 โมงเย็นนั้น ทาง ตลท. ได้หารือร่วม 3 ฝ่ายกับ ทั้งทาง ก.ล.ต. และสมาคมผู้ค้าหลักทรัพย์ในการออกกฎข้อระเบียบเพื่อควบคุมการซื้อขาย โดยสมาคมผู้ค้าหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) เป็นองค์กรกำกับดูแลตนเอง หรือ SRO (Self Regulatory Organization) อยู่แล้ว ซึ่งมีกฎเกณฑ์ระเบียบข้อปฏิบัติ เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสมาชิกของตนเอง โดยมีหลักการที่สำคัญคือ จะต้องกำกับดูแลสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน เป็นธรรม โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และมีกลไกที่ปกป้องคุ้มครองผู้ลงทุน โดยมีความยืดหยุ่น ทั้งนี้ จากดั้งเดิมที่พอร์ตโบรกฯ จะทำการซื้อขายหุ้นได้ 75% ทาง ตลท.อาจจะปรับลดลงเหลือไม่ให้เกิน 50% เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อตลาดโดยรวม และกลุ่มนักลงทุนประเภทต่างๆ
อย่างไรก็ดี มองว่าถึงแม้ว่าจะมีกฎควบคุมการซื้อขายของพอร์ตโบรกเกอร์ ที่ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย หรือควบคุมวงเงินการซื้อขายต่อวัน ก็จะไม่กระทบต่อวอลุ่มเทรดในตลาดให้ผันผวนได้ เนื่องจากหากพิจารณาภาพรวมตลาดแล้ว กลุ่ม Prop Trad มียอดเฉลี่ยซื้อขายต่อวันไม่เกิน 20% ของมูลค่าตลาดรวม ซึ่งถ้าหาก ตลท.จะออกมาตรการควบคุมมากจนเกินไป อาจทำให้สูญเสียสภาพคล่องต่อนักลงทุนต่างประเทศได้ ในขณะที่นักลงทุนกลุ่มซื้อขายรายวัน Day Trad จากการตั้งข้อสังเกตไม่ได้มีการซื้อขายผิดปกติแต่อย่างใด ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดไม่ได้มีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น หรือลดลงจนผิดปกติ
ทั้งนี้ ในส่วนของความวิตกกังวลต่อการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ต่อมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE (Quantitative Easing) ที่จะประชุมในวันที่ 17-18 กันยายนนี้ โดยอาจจะไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก เนื่องจากนักลงทุน และนักพยากรณ์เศรษฐกิจได้วิเคราะห์ออกมาแล้ว ซึ่งวงเงินที่คาดว่าจะลดลงจากเดิม 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน ลงมาที่ 7-6.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ/ต่อเดือน ซึ่งยังคงมีสภาพคล่องที่มีความยืดหยุ่นสูงอยู่ และผลกระทบที่คาดว่าจะมีต่อตลาดหุ้นไทยนั้นจะไม่มากเท่ากับเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดหุ้นใหญ่ศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียน มีบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่ง มีค่า P/E ต่ำเพียง 15 เท่า และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่สูงกว่า 12 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ยังมีผลตอบแทนจากการปันผล และกำไรที่สูง จึงเป็นแหล่งทุนอันดับต้นๆ ของเอเชียที่นักลงทุนต่างประเทศเลือกที่จะมาลงทุน
ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือ BTSGIF ที่เปิดไปแล้ว และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์โรงแรมศรีพันวา ก็ยังมีอีก 2 กองทุนที่อยู่ระหว่างรอเปิดการซื้อขาย คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ หรือ ABPIF และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานพลังงานแสงอาทิตย์เอสพีซีจี SPCGIF ซึ่งเป็นกองทุนในกลุ่มพลังงาน ส่วนจะมีกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอะไรเพิ่มเติมเข้ามาต้องรอดูความสำคัญ และจำเป็นว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาจจะมีกองทุนประเภทอื่นๆ เข้ามาในปีหน้า
ส่วนความกังวลต่อ พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้าน ที่เตรียมจะยื่นสภาในวาระที่ 3 คาดว่าจะไม่กระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก ซึ่งถ้าหากพิจารณาผ่านตามวาระก็จะได้ประโยชน์ต่อหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก โทรคมนาคม และขนส่ง โดยจะเป็นไปในลักษณะ ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ แต่ถ้าหากยืดเยื้อไม่ผ่านตามวาระก็อาจจะทำให้ดัชนีหุ้นไทยกลุ่มที่เกี่ยวข้องปรับตัวลดลงในระยะสั้นๆ แต่ถ้าหากเทียบความกังวลต่อมาตรการ QE แล้ว จะส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในทุกตลาดหุ้นทั่วโลกมากกว่า